หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช

คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก

ชื่อหลักสูตร

รหัสหลักสูตร     :         25520101107906

ภาษาไทย          :        หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต

ภาษาอังกฤษ     :         Bachelor of Nursing Science Program

ชื่อปริญญา

ชื่อเต็ม              :         พยาบาลศาสตรบัณฑิต  

ชื่อย่อ               :         พย.บ.

ชื่อเต็ม             :         Bachelor of Nursing Science  

ชื่อย่อ              :         B.N.S.

 ระบบการศึกษา  จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร:  133  หน่วยกิต

หลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร ๔ ปี  ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขา
พยาบาลศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๒ และเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๘

 การลงทะเบียนเรียน

1. การลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาให้ลงทะเบียนได้ไม่น้อยกว่า ๙ หน่วยกิต และไม่เกิน ๒๒ หน่วยกิต ในแต่ละภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนภาคฤดูร้อนให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน ๙ หน่วยกิต 

ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น การลงทะเบียนเรียนที่มีจำนวนหน่วยกิตแตกต่างไปจากเกณฑ์ข้างต้นก็อาจทำได้ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนต่อมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ต้องเรียนให้ครบตามจำนวนหน่วยกิตที่ระบุไว้ในหลักสูตร โดยได้รับอนุมัติจากคณบดีผ่านความเห็นชอบของผู้อำนวยการวิทยาลัย 

2. การลงทะเบียนเรียน และการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษา อัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาให้ เป็นไปตามที่สถาบันกำหนด

ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

1.  ปรัชญาหลักสูตร

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาตามปรัชญาของสถาบันพระบรมราชชนก  ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มุ่งเน้นชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น และระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข  มีความเชื่อว่าการพยาบาลเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพยาบาลกับผู้ใช้บริการบนพื้นฐานการดูแลแบบ เอื้ออาทร (Caring) ให้การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) และบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการดูแลสุขภาพของบุคคล ครอบครัว ชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเองภายใต้บริบทและวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษาพยาบาลและมโนทัศน์ทางการพยาบาล ดังนี้

การจัดการศึกษาพยาบาล เชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพ เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้และมีความสามารถ
ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน
ผู้เรียน บุคคล ครอบครัว และชุมชน ด้วยวิธีการที่หลากหลายเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ภายใต้บรรยากาศของความเอื้ออาทร โดยใช้การเรียนรู้จากสภาพการณ์จริง  เน้นชุมชนเป็นฐาน และใช้กระบวนการพยาบาลที่ผสมผสานความรู้ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแสดงศักยภาพตามมาตรฐานวิชาชีพและระบบคุณภาพ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับสมรรถนะในศตวรรษที่ 21             

การปฏิบัติการพยาบาล  เป็นการปฏิบัติในระดับวิชาชีพ โดยบูรณาการความรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กระบวนการพยาบาลเป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมบนพื้นฐานการดูแลแบบเอื้ออาทร (Caring) และบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) คำนึงถึงความเป็นปัจเจก มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ มีอิสระในการเลือก การตัดสินใจ มีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคและมีคุณภาพ

ความเอื้ออาทร เป็นพฤติกรรมปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยการใช้ความรู้และทักษะเชิงวิชาชีพ ในการปฏิบัติการพยาบาลที่แสดงความรู้สึกอย่างจริงใจ มีความเป็นกัลยาณมิตร เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ภายใต้มาตรฐานของวิชาชีพและระบบคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพ

การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ เป็นการให้บริการที่เป็นมิตร มีความรัก ความเมตตา ใส่ใจในปัญหาและความทุกข์ของผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้อง ให้บริการตามปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการที่เป็นจริง โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการเป็นหลัก

สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ ผู้เรียน และผู้สอนอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ การเมือง และระบบสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาส่งผลต่อการเรียนรู้และภาวะสุขภาพของผู้ใช้บริการ

สุขภาพของผู้ใช้บริการ เป็นความสมดุลของร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกช่วงวัยของชีวิต ตามการรับรู้ของบุคคล ซึ่งภาวะสุขภาพสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และผู้ใช้บริการสามารถดำรงชีพได้ตามศักยภาพ

2.  ความสำคัญของหลักสูตร

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตพยาบาลวิชาชีพที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ใช้บริการบนพื้นฐานทฤษฎีการดูแลแบบเอื้ออาทร (Caring Theory) และทฤษฎีการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Humanistic Nursing Theory) เพื่อตอบสนองความต้องการทางสุขภาพของชุมชนและระบบสุขภาพของประเทศ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

3. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร (Program Education Objectives: PEOs)

เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรมีคุณลักษณะและความสามารถ  ดังนี้

3.1 แสดงคุณลักษณะส่วนบุคคลที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ดังต่อไปนี้

 1) เคารพในคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นปัจเจกบุคคล

 2) มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพในการดำรงตนและการปฏิบัติงาน

 3) คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและจัดการปัญหาอย่างสร้างสรรค์ทั้งที่เกี่ยวกับ         การปฏิบัติพยาบาลและสถานการณ์ทั่วไป

 4) มีภาวะผู้นำ สามารถบริหารจัดการตนเองและงานที่ได้รับผิดชอบ ตลอดจนทำงานร่วมกับสหวิชาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 5) มีสุขภาวะและวุฒิภาวะทางอารมณ์

 6) แสวงหาความรู้และเรียนรู้ตลอดชีวิต

 7) มีทัศนคติที่ดีและศรัทธาต่อวิชาชีพการพยาบาล เป็นสมาชิกที่ดีของวิชาชีพและพลเมืองที่ดีของสังคม

 8) สามารถดำรงตนให้อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาไทย

3.2 มีสมรรถนะเชิงวิชาชีพ ดังนี้

1) รอบรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมในการปฏิบัติการพยาบาล เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

2) ปฏิบัติการพยาบาลอย่างเป็นองค์รวม โดยใช้กระบวนการพยาบาล ทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย รักษา บำบัดทางการพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ แก่ผู้ใช้บริการทุกช่วงวัย ทุกภาวะสุขภาพ ทุกระดับของสถานบริการสุขภาพบนพื้นฐานของความเอื้ออาทรและการให้บริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ในความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยใช้ศาสตร์และศิลปะทางการพยาบาลและหลักฐานเชิงประจักษ์  ภายใต้กฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ

3) รักษาโรคเบื้องต้น จัดการภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินและการส่งต่อ (Refer) ได้ตามขอบเขตวิชาชีพการพยาบาล

4) สื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีทางการพยาบาลที่ทันสมัยได้อย่างต่อเนื่อง

5) พัฒนาศักยภาพของบุคคล ครอบครัว ชุมชนให้สามารถดูแลตนเองทางด้านสุขภาพ            ตามบริบทและวิถีการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

6) ร่วมทำวิจัย สร้างนวัตกรรมทางสุขภาพ และเลือกใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย และนวัตกรรมมาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้

7) เลือกใช้แหล่งทรัพยากร นวัตกรรม เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพมาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างเหมาะสม 

8) จัดการสุขภาพตามบริบทของชุมชนและท้องถิ่นร่วมกับสหวิชาชีพ