สมรรถนะ ของพยาบาลวิชาชีพ หมายถึง ความรู้ ความสามารถ และเจตคติของพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่จะทำให้สามารถปฏิบัติการพยาบาลได้ตามขอบเขตของวิชาชีพอย่างปลอดภัย มีความรับผิดชอบ เป็นผู้ร่วมงานที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองและพัฒนางานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม โดยสามารถแบ่งได้เป็น ๘ ด้าน (สภาการพยาบาล, ๒๕๕๒) ได้แก่
๑) สมรรถนะด้านจริยธรรม จรรยาบรรณและกฎหมาย
๒) สมรรถนะด้านการปฏิบัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์
๓) สมรรถนะด้านคุณลักษณะเชิงวิชาชีพ
๔) สมรรถนะด้านผู้นำ การจัดการและการพัฒนาคุณภาพ
๕) สมรรถนะด้านวิชาการและการวิจัย
๖) สมรรถนะด้านการสื่อสารและสัมพันธภาพ
๗) สมรรถนะด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ
๘) สมรรถนะด้านสังคม
ขอบเขตและสมรรถนะสาขาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต
สมรรถนะที่ ๑ มีความสามารถในการพัฒนา จัดการ และกำกับระบบการดูแลกลุ่มเป้าหมาย หรือเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะโรค (Care management)
สมรรถนะที่ ๒ มีความสามารถในการดูแลกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มเฉพาะโรคที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือจิตเวชที่ซับซ้อน (Direct care)
สมรรถนะที่ ๓ มีความสามารถในการประสานงาน (Collaboration)
สมรรถนะที่ ๔ มีความสามารถในการเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowering) การสอน (Educating) การฝึก (Coaching) การเป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติ (Mentoring)
สมรรถนะที่ ๕ มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษาในการดูแลกลุ่มเป้าหมาย หรือเฉพาะกลุ่มที่ตนเองเชี่ยวชาญ (Consultation)
สมรรถนะที่ ๖ มีความสามารถในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent)
สมรรถนะที่ ๗ มีความสามารถในการให้เหตุผลทางจริยธรรมและการตัดสินใจเชิงจริยธรรม (Ethical reasoning and ethical decision making)
สมรรถนะที่ ๘ มีความสามารถในการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based practice)
สมรรถนะที่ ๙ มีความสามารถในการจัดการและประเมินผลลัพธ์ (Outcome management and evaluation)
การปฏิบัติที่แสดงถึงการสมรรถนะที่ ๘ ความสามารถในการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์
- ติดตาม รวบรวม ผลการวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์การพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
- ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล
- เผย แพร่แนวปฏิบัติการพยาบาลที่มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อให้เกิดการแลก เปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาการพยาบาลเดียวกัน
- นำหลักการจัดการความรู้มาใช้ร่วมกับกระบวนการพัฒนาคุณภาพตามหลักฐานเชิงประจักษ์
- วิเคราะห์และประเมินผลที่ได้รับจากการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์และเผยแพร่
การปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ คือ การบูรณาการอย่างเป็นระบบระหว่างความรู้/ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุดในขณะใดขณะหนึ่ง อาจจะเป็นหลักฐานจากงานวิจัยที่มีการออกแบบมาอย่างดี หรือหลักฐานอื่นๆที่น่าเชื่อถือร่วมกับความเชี่ยวชาญทางคลินิก และค่านิยม/ ความเชื่อของผู้ป่วย/ ผู้รับบริการในการตัดสินใจให้การดูแลเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพเฉพาะอย่าง (ฟองคำ ดิลกสกุลชั้ย,๒๐๐๖)
ขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์
๑. การกำหนดปัญหาทางคลินิก จะใช้กรอบ PICO คือ กลุ่มประชากรคือใคร (Population) การจัดกระทำ/ กิจกรรมการพยาบาลคืออะไร (Intervention) เปรียบเทียบกับกิจกรรมอะไร (Comparison) และผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร (Outcome)
๒. การสืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์ จากแหล่งสืบค้นข้อมูลต่างๆ เช่น Electronic database (Guideline, Systematic review และ Original paper) และ Hand search (Proceeding, Reference lists, Personal contact และ Master and doctoral thesis)
๓. การวิเคราะห์และการประเมินคุณภาพหลักฐานเชิงประจักษ์ จะต้องมีการจัดระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานเชิงประจักษ์ ตัวอย่างเช่น การจัดระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานเชิงประจักษ์ (Melnyk & Fineout, 2010)
ระดับที่ ๑ หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ หรือจากงานวิเคราะห์เมตาของงานวิจัยที่เป็น RCT หรือจากแนวปฏิบัติที่พัฒนามาจากการทบทวนวรรณกรรมของงานวิจัยที่เป็น RCT
ระดับที่ ๒ หลักฐานที่มาจากงานวิจัยเชิงทดลองที่มีการออกแบบรัดกุม มีการสุ่มเข้ากลุ่มตัวอย่างและกลุ่มควบคุมอย่างน้อย ๑ เรื่อง
ระดับที่ ๓ หลักฐานที่ได้จากงานวิจัยเชิงทดลองที่ออกแบบรัดกุมแต่ไม่ได้มีการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
ระดับที่ ๔ หลักฐานจากงานวิจัย case control หรือ cohort studies
ระดับที่ ๕ หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบจากงานวิจัยเชิงพรรณนาหรืองานวิจัยเชิงคุณภาพ
ระดับที่ ๖ หลักฐานจากงานวิจัยเชิงบรรยาย หรืองายวิจัยเชิงคุณภาพ
ระดับที่ ๗ หลักฐานจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ หรือจากกลุ่มเชี่ยวชาญ
ซึ่งในการวิเคราะห์ วิจารณ์และประเมินหลักฐานเชิงประจักษ์ มีข้อควรพิจารณา คือ
๑) ผลการวิจัยมีความตรงหรือไม่ อย่างไร
๒) ผลการวิจัยเป็นอย่างไร
๓) สามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานได้หรือไม่อย่างไร
๔. การสังเคราะห์หลักฐานเชิงประจักษ์และการสรุปเพื่อการประยุกต์ใช้ซึ่งสามารถทำตามขั้นตอนการสังเคราะห์เชิงประจักษ์ คือ
- ทบทวนคำถาม/ ประเด็นปัญหาทางคลินิกอีกครั้ง
- การสกัดข้อมูลและบันทึกข้อมูล
- การสังเคราะห์งานวิจัย
- การสรุปเพื่อนำไปใช้
- การสรุปประเด็นจากงานวิจัย
๕. การพัฒนาโครงการนำร่องเพื่อนำข้อสรุปที่ได้จากการสังเคราะห์ไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง
๖. การประเมินผลโครงการและเผยแพร่
|