ระยะของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Stage of change)
ระยะของการเปลี่ยนแปลง แบ่งออกเป็น 7 ระยะ
ระยะเมินเฉย (Pre – contemplation) เป็นระยะที่ยังไม่สนใจจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยยังไม่คิดพิจารณาเรื่องที่ตัวเองจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ พบว่าผู้รับบริการกลุ่มนี้จะต่อต้าน (Resistant) ไม่มีแรงจูงใจ (Unmotivated) และยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมโปรแกรมการบริการทางสุขภาพใดๆ การตอบสนองที่เหมาะสม คือการให้ข้อมูลตรงไปตรงมา เป็นกลาง ไม่ชี้นำหรือขู่ให้กลัว
ระยะลังเลใจ (Contemplation) เป็นระยะที่บุคคลเริ่มมีความคิดลังเลว่าตนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรืออยู่อย่างเดิมดี มีการชั่งใจหาข้อดีข้อเสีย คิดว่าการเปลี่ยนแปลงมีข้อดีแต่ข้อเสียมากกว่า คิดว่ามีอุปสรรคและคงทำไม่สำเร็จ ซึ่งในระยะลังเลใจ บุคคลมีแนวโน้มว่าอาจทำการเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า การตอบสนองที่เหมาะสม คือ การพูดคุยถึงข้อดีข้อเสีย เปิดโอกาสให้ทบทวนรอบด้าน
ระยะตัดสินใจ (Determination)และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง (Preparation) เป็นระยะที่บุคคลเกิดความตระหนักและตัดสินใจได้ว่าจะต้องกระทำการเปลี่ยนแปลงมีกำหนดเวลาที่แน่นอนในการที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง มีแผนกว้างๆ ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถลงมือกระทำได้ อาจจะมาจากการขาดเป้าหมายหรือเป้าหมายไม่ชัดเจน อาจมีความคิด ความเชื่อ ความกลัวบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งพลังของความคิด ความเชื่อเหล่านี้ เป็นอุปสรรคที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงการตอบสนองที่เหมาะสม คือการให้ทางเลือก ให้เลือกได้อย่างอิสระ เน้นความรับผิดชอบในการเลือกและส่งเสริมศักยภาพในการลงมือกระทำของผู้รับบริการ
ระยะลงมือปฏิบัติ (Action) ในระยะนี้บุคคลจะเริ่มลงมือกระทำการเปลี่ยนแปลง หาข้อมูลเพื่อที่จะมีแผน ขั้นตอน กลวิธี ที่จะช่วยให้ตนเองเปลี่ยนแปลง มีทักษะในการแก้ไข เผชิญปัญหาในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมากขึ้น และยังทำการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งระยะนี้ต้องการ การให้กำลังใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การตอบสนองที่เหมาะสม ได้แก่ การส่งเสริมให้ผู้รับบริการได้ลงมือทำตามวิธีที่ตนเลือกอย่างต่อเนื่อง ช่วยขจัดอุปสรรคในการลงมือปฏิบัติ
ระยะคงสภาพ (Maintenance) บุคคลที่อยู่ในกลุ่มนี้ พบว่า สามารถคงไว้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างน้อย 6 เดือน สามารถเปลี่ยนนิสัยและรูปแบบการดำเนินชีวิต โดยมีกิจวัตรตามพฤติกรรมใหม่ พยายามหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองที่จะกลับไปมีพฤติกรรมเดิม การตอบสนองที่เหมาะสมคือ การป้องกันการกลับไปสู่พฤติกรรมเดิม มีวิถีชีวิตที่สมดุล มีคุณค่า บริหารเวลา ผ่อนคลาย ดูแลสุขภาพ สังเกตสัญญาณเตือนที่จะบ่งถึงการกลับไปในความเคยชินเดิม
ระยะกลับไปมีพฤติกรรมเดิมๆซ้ำๆเป็นครั้งคราว 1 – 2 ครั้ง (Lapse) เป็นการกลับไปมีพฤติกรรมเดิมๆ เพียงครั้งหรือสองครั้ง หรือในระยะเวลาอันสั้น อาจเกิดจากสถานการณ์เสี่ยง 3 ประเภทได้แก่ อารมณ์ทางลบ ความขัดแย้งในสัมพันธภาพส่วนบุคคล และแรงกดดันจากสังคม (ตรงและอ้อม)
ระยะกลับไปมีพฤติกรรมเดิมๆเต็มรูปแบบเหมือนที่เคยเป็นมา (Relapse) พบว่าบุคคลที่อยู่ในระยะนี้จะกลับไปมีพฤติกรรมเหมือนเดิมที่เคยเป็นมา ความคิดที่สำคัญที่พบในบุคคลที่อยู่ในระยะนี้ และเป็นความคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ความคิดว่าตนเองล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถทำตามสิ่งที่ตนเองได้กำหนดไว้ ส่งผลให้คิดว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น อาจคิดว่าเป็นเรื่องเวรกรรม หรือเป็นเรื่องของโชคชะตา ความอาภัพ จึงทำให้เลิกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ระยะกลับไปมีพฤติกรรมเดิมๆซ้ำๆเป็นครั้งคราว และระยะกลับไปมีพฤติกรรมเดิมๆเต็มรูปแบบเหมือนที่เคยเป็นมา ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้และค้นพบตัวเอง เพื่อช่วยให้การฟื้นสภาพดำเนินต่อไปได้นาน ควรกระตุ้นให้บุคคลมองว่าเป็นบทเรียน แทนที่จะเป็นความล้มเหลว การตอบสนองที่เหมาะสมคือ การประคับประคอง ให้กำลังใจ มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา สรุปบทเรียน มุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงต่อไป
การสัมภาษณ์เพื่อการการเสริมสร้างแรงจูงใจ (Motivational Interviewing)
การสัมภาษณ์เพื่อการเสริมสร้างแรงจูงใจ (Motivational Interviewing) ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย Miller และ Rollnickในปี 2534 ซึ่งเป็นวิธีการสนทนาที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้บุคคลได้เปลี่ยนแปลงตนเอง โดยสนับสนุนการสำรวจและหาทางออกผ่านกระบวนการปรึกษาที่มีโครงสร้างทิศทางชัดเจน มุ่งเน้นให้เกิดบรรยากาศเป็นมิตรเพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงภายในของผู้รับบริการ
การที่บุคคลต้องเผชิญกับการตัดสินใจหลายอย่างที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองในทุกระยะของช่วงชีวิต ส่วนใหญ่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก จึงไม่ทำการเปลี่ยนแปลง ทำให้บุคคลนั้นถูกมองว่าขาดความรู้ ปฏิเสธ ขี้เกียจ และมีบุคลิกภาพที่ต่อต้าน พบว่าเหตุผลที่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยากนั้น มักเกิดจากความลังเลใจ (Ambivalence) เป็นความรู้สึกสองฝั่งสองฝ่าย ที่ต้องการหรือไม่ต้องการจะทำการเปลี่ยนแปลงในเวลาเดียวกัน ซึ่งความลังเลใจทำให้เกิดความไม่สบายใจ และนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งที่มักเข้าใจผิดว่าเป็นการต่อต้าน ซึ่ง MI สามารถช่วยจัดการกับความลังเลใจและช่วยให้ผู้รับบริการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโดยสร้างแรงจูงใจที่มาจากตนเอง
สรุปได้ว่า การสัมภาษณ์เพื่อการเสริมสร้างแรงจูงใจ เป็นกระบวนการสนทนา (Style of interaction) ที่มีโครงสร้าง ทิศทางชัดเจน ได้รับการออกแบบเพื่อช่วยแก้ไขความลังเลใจ โดยสร้างแรงจูงใจภายในและกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นมีพันธะสัญญาที่จะทำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง โดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง
เป้าหมายสำคัญของMI
1. เพิ่มประสิทธิภาพของผู้ให้บริการในการช่วยชี้แนะผู้รับบริการตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
2. ช่วยผู้รับบริการตัดสินใจเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการใช้คำถามที่เป็นธรรมชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง
การสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการของ MI มี 2 องค์ประกอบ ได้แก่ จิตวิญญาณพื้นฐาน 4 ประการ (PACE) และกระบวนการสร้างแรงจูงใจ 4 ขั้นตอน ดังนี้
จิตวิญญาณพื้นฐาน 4 ประการ
1. การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) เป็นการทำงานร่วมกัน และหลีกเลี่ยงบทบาท “ผู้เชี่ยวชาญ”
2. การยอมรับในตัวตน (Acceptance) จะต้องเคารพความเป็นตัวตน ศักยภาพ ความสามารถ และมุมมองของผู้รับบริการ การยอมรับในตัวตนจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้รับบริการมีอิสระในการเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง (Autotomy support) และชื่นชมให้ผู้รับบริการได้รับรู้ศักยภาพ ความเข้มแข็งของตนเอง (Affirmation)
3. ความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) มีความเข้าอกเข้าใจ ใส่ใจถึงความสนใจ ความสบายใจของผู้รับบริการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน
4. การกระตุ้นให้ทำการเปลี่ยนแปลง (Evocation) เป็นการดึงเอาความสามารถของผู้รับบริการออกมาโดยใช้การฟังมากกว่าการบอกหรือการถาม โดยที่ความคิดเห็นและวิธีการที่ดีที่สุดต้องมาจากตัวผู้รับบริการ
กระบวนการสร้างแรงจูงใจ 4 ขั้นตอน
กระบวนการสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการของ MI ผู้ให้บริการจะใช้วิธีการให้ผู้รับบริการเกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการให้คิดถึงพฤติกรรมที่จะปรับเปลี่ยน วางแผน และเข้าร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การสร้างสัมพันธภาพ (Engaging) เป็นการสร้างสัมพันธภาพเพื่อให้เกิดความไว้วางใจและยอมรับซึ่งกันและกัน โดยใช้ทักษะการสื่อสารแบบจุลภาค (Micro – communication skills) ในการสนทนากัน เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี และตกลงใจเข้าร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
2. การวางเป้าหมาย (Focusing) เป็นกระบวนการในการสำรวจและหาแนวทางปฏิบัติให้ได้อย่างต่อเนื่องด้วยการวางแผนปฏิบัติ การตั้งเป้าหมาย การจัดลำดับความสำคัญและมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน สิ่งสำคัญในกระบวนการปรึกษาผู้ให้บริการจะต้องใช้ทักษะของการสร้างแรงจูงใจ ช่วยให้ผู้รับบริการตัดสินใจตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งแนวทางที่กำหนดจะต้องเป็นความต้องการ ความปรารถนา และเป้าหมายของผู้รับบริการ
3. การกระตุ้นให้ทำการเปลี่ยนแปลง (Evoking) เมื่อมีการตกลงวางเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ผู้ให้บริการสำรวจความคิดเห็นของผู้รับบริการว่า ทำไมต้องทำการเปลี่ยนแปลงและจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้เกิดแรงจูงใจและเอ่ยคำพูดที่แสดงความต้องการเปลี่ยนแปลงตนเอง (Chang talk) ออกมา ซึ่งการดึงเอาความสามารถ ความคิดเห็น และวิธีการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มาจากผู้รับบริการ ซึ่งเป็นหัวใจของการสนทนาด้วยวิธีการของ MI
4. การวางแผน (Planning) สร้างการเปลี่ยนแปลงโดยมีแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจง ที่ผู้รับบริการเห็นด้วยและนำไปปฏิบัติได้จริง
ทักษะการปรึกษาOARS
O: Open – ended questioningการถามคำถามปลายเปิด
- การถามคำถามปลายเปิดเป็นการกระตุ้นให้พูด ทำให้มีการอธิบายขยายความ ซึ่งจะช่วยในการสำรวจปัญหาและพฤติกรรม และช่วยในการสร้างสัมพันธภาพ
- ควรเริ่มด้วยการถามคำถามปลายเปิดก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้คำถามที่เป็นจุสำคัญ/ เฉพาะ
- การใช้คำถามปลายเปิดจะทำให้ทราบข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับการรับรู้ คุณค่า และความพึงพอใจ และสามารถนำไปสู่ความรับผิดชอบของผู้รับบริการ
ตัวอย่างคำถาม “อะไรที่คุณต้องการเริ่มต้นในวันนี้” “อะไรที่ทำให้คุณเข้าร่วมในการรักษา”
ผู้ให้บริการที่ใช้วิธีการของ MI อาจจะให้คำแนะนำหรือให้ข้อมูลแก่ผู้รับริการได้ แต่ต้องกระทำโดยใช้จิตวิญญาณของ MI ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องมีการขออนุญาตในการให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการ และบอกข้อมูลที่ชัดเจน เป็นทางเลือกในการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ผู้รับบริการมีความเป็นอิสระในการเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง การใช้คำถามปลายเปิดจึงเป็นทักษะที่ผู้ให้บริการนำมาใช้โดยมีวิธีการของกระบวนการ ถาม – บอก – ถาม (Elicit – Provide – Elicit) ที่เป็นวิธีการสนทนาเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการ มีวิธีการ ดังนี้
กระบวนการ ถาม – บอก – ถาม (Elicit – Provide – Elicit)
1) ถาม เพื่อดึงความพร้อมและความสนใจในการเปลี่ยนแปลง
“ขออนุญาตให้ข้อมูล” “ผมมีข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการประเมินสุขภาพของคุณ” “คุณเคยได้ยินเรื่องนี้มาอย่างบ้าง”
2) บอก ให้ข้อมูลสะท้อนกลับอย่างเป็นธรรมชาติ
“จากผลการตรวจพบว่า…..”
3) ถาม ความเข้าใจ/ การแปลความหมายของผู้รับบริการจากที่ได้รับฟังข้อมูล
“คุณมีความเห็นอย่างไรบ้าง” “คิดอย่างไรกับข้อมูลที่ได้รับฟังมาทั้งหมด”
A: Affirmation การชื่นชมยืนยันรับรอง
การชื่นชมจะทำให้ผู้รับบริการเกิดพลังอำนาจและความสามารถแห่งตน (Empowerment & Self – efficacy) กระตุ้นให้เกิดทัศนคติว่า “ฉันทำได้” ทำให้มีความหวังและความเชื่อ
ลักษณะของการชื่นชม
1) การแสดงให้เห็นความพยายาม (สร้างความสำเร็จที่เกินจริง) เช่น “แม้ว่าสถานการณ์จะดูยากอย่างไร คุณก็ไม่ย่อท้อที่ให้ความร่วมมือในวันนี้”
2) การแสดงให้เห็นความเข้มแข็ง (เปลี่ยนมุมมองที่ต่อต้าน)
3) การเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่น เช่น “คุณมีความมุ่งมั่นมาก จนทำให้คุณพบวิธีการที่ทำให้เกิดความสำเร็จ”
วิธีการชื่นชม
1) ชมแบบชัดเจนและจริงใจ (Clear and Genuine)
2) หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ฉัน” (Focus on you, parental overtones)
3) ไม่พูดถึงสิ่งที่เป็นปัญหา
4) ชมที่ความสามารถ/ ศักยภาพของผู้รับบริการ
5) สิ่งที่เป็นแง่ลบหรือการต่อต้าน สามารถเปลี่ยนมุมมองเป็นแง่บวก (Reframing: glass half full)
6) คำชมเชย ไม่ใช่การชื่นชม
R: Reflective listening การฟังอย่างเข้าใจและสะท้อนความ
การสะท้อนความเป็นทักษะที่สำคัญในการสร้างสัมพันธภาพและแสดงให้เห็นถึงการฟังและสะท้อนความอย่างเข้าใจผู้รับบริการที่แท้จริง
วิธีการของการสะท้อนความ
1) สะท้อนที่ประโยคข้อความที่ผู้รับบริการบอก ไม่ใช่คำถาม ลดน้ำเสียงลงในช่วงท้ายของการสะท้อน เสียงไม่สูง
2) พูดสั้นๆ ประมาณ 5 – 10 คำ
3) จับความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ข้างใน แม้จะไม่ได้พูดออกมา สะท้อนระดับความรุนแรงของความรู้สึก
4) เว้นช่วง หยุด รอ และมองสบตา
ประเภทของการสะท้อนความ
1) การสะท้อนความแบบธรรมดา (Simple reflection) แบ่งเป็น
- Repeating ทวนความ
- Rephrasing ทวนวลี
- Paraphrasing ถ่ายทอดความ
2) การถ่ายทอดแบบซับซ้อน (Complex reflection) แบ่งเป็น
- Client’s true meaning or feeling ความหมายหรือความรู้สึกที่แท้จริง
- Double – sided สะท้อนสองด้าน ข้อความที่ขัดแย้งกันของผู้รับบริการ
- Amplifiedสะท้อนความให้หนักขึ้น
เป้าหมายของการสะท้อน
อะไร คือสิ่งที่ผู้รับบริการต้องการเปิดเผย/ แสดง/ บอก
S: Summarization การสรุปความ
การสรุปความเป็นการสรุปรวมความคิด ความรู้สึกที่ผู้รับบริการบอกเล่ามาก่อนหน้านี้ เป็นการพูดใหม่ในสิ่งที่ผู้รับบริการได้เล่ามาให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เห็นทิศทางของการสนทนา และอาจจะให้ความเห็นได้ว่า ความคิด ความรู้สึกที่ผู้รับบริการเล่ามามีความสอดคล้องอย่างไรบ้าง โดยการใช้คำพูดสั้น กระชับ ให้ได้ใจความสำคัญทั้งหมด โดยสรุปเนื้อหาและความรู้สึกของผู้รับบริการ
แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1) การสรุปแบบรวบประเด็น (Collection) การรวบรวมข้อมูลแล้วสรุป ควรใช้เป็นระยะๆ เพราะช่วยกระตุ้น Change talk แต่ถ้าใช้บ่อยเกินไป จะทำให้การสนทนาไม่เป็นธรรมชาติ
2) การสรุปเชื่อมโยง (Linking) สรุปคำพูดปัจจุบันที่ขัดแย้งกันกับคำพูดที่พูดมาก่อนหน้านี้ กระตุ้นให้เห็นความขัดแย้งในสิ่งที่คิด เกิดความลังเลว่าสิ่งที่คิด/ ทำอยู่อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด การสรุปความที่ขัดแย้งกันให้ใช้คำเชื่อม “และ” ไม่ใช้คำ “แต่”
3) การสรุปเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Transitioning) สรุปเมื่อเปลี่ยนประเด็นพูดคุยหรือต้องเลือกเรื่องคุย
คำพูดที่เอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลง (Change Talk)
คำพูดที่เอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลงมี 2 แบบ ได้แก่คำพูดเตรียมการจะเปลี่ยนแปลง (Preparatory change talk)และ คำพูดที่จะทำการเปลี่ยนแปลง (Mobilizing change talk)
คำพูดเตรียมการจะเปลี่ยนแปลง (Preparatory change talk)
หมายถึง คำพูดที่แสดงให้ทราบว่า ผู้รับบริการแสดงมองเห็นเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงและมีความมั่นใจในความสามารถของตนที่จะเปลี่ยนแปลง ลักษณะคำพูดที่แสดงให้ทราบว่ามีการเตรียมการจะเปลี่ยนแปลง ได้แก่ DARN
Desire: คำพูดที่แสดงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนตนเอง
Ability คำพูดที่ชี้ให้เห็นว่าบุคคลมีความเชื่อในความสามารถของตนในการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
Reason คำพูดที่แสดงให้ทราบถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
Need คำพูดหรือสิ่งสะท้อนให้ทราบว่ามีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
คำพูดที่จะทำการเปลี่ยนแปลง (Mobilizing change talk) เป็นคำพูดที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้รับบริการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง หรือมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ เป็นคำพูดที่สะท้อนถึงพันธะสัญญาระยะสั้นที่จะกระทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเอง
ลักษณะคำพูดที่แสดงให้ทราบว่า มี Mobilizing change talk ได้แก่ CATS
Commitment: คำพูดที่แสดงให้เห็นพันธะสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
Activation: คำพูดที่แสดงให้เห็นว่ามีแนวทางในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ยังเป็นพันธะสัญญาระยะสั้น
Taking steps: คำพูดที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลมีทิศทางที่พร้อมในการปฏิบัติ
การกระตุ้นให้เอ่ยปากว่าจะเปลี่ยน (Evoking Change Talk)
คำถามปลายเปิด เป็นวิธีการที่ใช้กระตุ้นให้เอ่ยถึงความคิดที่ไม่สอดคล้องกันของผู้รับบริการ ถามเพื่อให้ทบทวน ขยายมุมมอง ทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมของตนเอง และเห็นประโยชน์ความสำคัญของการเปลี่ยน หรือไม่เปลี่ยนพฤติกรรม โดยปกติ วิธีการนี้จะมีประโยชน์หลังจากได้เปิดการสนทนาไปมากพอแล้ว ซึ่งเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ผู้รับบริการเอ่ยปากว่าจะเปลี่ยนมักเกิดหลังจากประโยคสรุปความ
วิธีการ Evoking Change Talk
- การใช้ไม้บรรทัดเปลี่ยนแปลง
- ให้มองย้อนเหตุการณ์ในอดีต
“ก่อนหน้าที่จะป่วยเป็นเบาหวาน ชีวิตของคุณเป็นอย่างไร”
“ถ้าเทียบกับตอนนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง”
- ให้มองเหตุการณ์ในอนาคต
“ถ้าคุณเปลี่ยนตัวเองได้สำเร็จ จะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง”
“นับจากนี้ 5 ปี คุณอยากให้ชีวิตของคุณเป็นอย่างไร”
- ถามตรงๆ ถึงผลเสีย
“ถ้าไม่ทำการเปลี่ยนแปลง ผลเสียที่เกิดขึ้นกับคุณมีอะไรบ้าง”
- สำรวจเป้าหมายและค่านิยม
“เป้าหมายในการดำเนินชีวิตของคุณ คืออะไร”
“ต้องการอะไรในชีวิต”
“มีอะไรที่เป็นอุปสรรค ทำให้คุณไปไม่ถึงเป้าหมายของคุณบ้าง”
Sustain Talk & Discord
Sustain Talkเป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้รับบริการยังต้องการที่จะทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ ยังไม่สนใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
Discordเป็นคำพูดที่ผู้รับบริการสะทอนให้เห็นถึงความขัดแย้งกันในกระบวนการบำบัดกับผู้ให้บริการ
วิธีการที่ใช้เมื่อพบSustain Talk & Discord
- การสะท้อนความ
- การย้ำให้เห็นสิทธิที่เขาจะเลือกปฏิบัติหรือไม่ และเขามีอำนาจในการควบคุมสิทธิทางเลือกนั้นๆ (Emphasis personal choice and control)
- เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้รับบริการเสนอ และเชื้อเชิญให้เสนอวิธีการต่างๆ (Agreement with a twist and invite co-operation)
- การช่วยให้มองปัญหาจากหลากหลายมุม (Reframing)
หลุมพรางทางการสื่อสาร (Communication roadblock)
หลุมพรางทางการสื่อสารนี้เป็นแนวคิดของโทมัสกอร์ดอน(Thomas Gordon’s Twelve Roadblocks) ซึ่งหมายถึง ลักษณะการสื่อสารที่มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดความไม่ราบรื่นในกระบวนการสื่อสาร เป็นกระบวนการสื่อสารที่ทำให้เกิด “Emotion plague”ซึ่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งโดยไม่จำเป็น การสื่อสารลักษณะนี้ เป็นการสื่อสารโดยอ้อมว่าได้ใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการสื่อสาร ซึ่งถือว่าเป็นการไม่ตระหนักหรือเคารพความเป็นบุคคลของคู่สนทนา
ประเภทของหลุมพรางทางการสื่อสาร
หลุมพรางทางการสื่อสารนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การตัดสิน การให้คำแนะนำ และการหลีกเลี่ยงที่จะตอบสนองต่อความกังวลใจของคู่สนทนา
1. การตัดสิน (Judging the other person) ได้แก่
1.1 วิพากษ์วิจารณ์ (Criticizing)ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองไม่ดี ไม่มีความสามารถ มีปมด้อย หรือรู้สึกว่าตนเองโง่ เช่น “ต้องไม่พูดแบบนั้น” “คุณต้องอยู่กับความเป็นจริงบ้าง” “กลับไปอยู่กับสิ่งที่ถูกต้อง และบอกเธอว่า คุณเสียใจ” ผลที่เกิดขึ้นกับผู้รับบริการคือ “ฉันจะไม่บอกอะไรกับคุณ ถ้าคุณกำลังตัดสินฉัน”
1.2 ตั้งฉายาให้รู้สึกอับอาย เป็นตัวตลก (Name-calling, Shaming, Ridiculing) มีผลในการทำลายภาพลักษณ์ ทำให้ขาดกำลังใจในการมองตนเองตามความเป็นจริง และรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม
1.3 การวินิจฉัย (Diagnosing) ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านและโกรธ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการอยู่เหนือกว่า และทำตัวเป็นนักสืบ
1.4 การชมแบบหวังผล (Praising evaluation) การชมแบบหวังผล อาจใช้ได้เป็นบางเวลา แต่ไม่ช่วยในการสร้างสัมพันธภาพ เพราะเป็นการยกยอที่ไม่จริงใจและวางตัวในฐานะผู้ประเมิน
2. การให้คำแนะนำ (Sending solution) ได้แก่
2.1 สั่ง บงการ (Ordering, directing, commanding) กระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขัดขืน ทำให้รู้สึกว่า ความต้องการของผู้รับบริการไม่ได้รับการใส่ใจ
2.2 การขู่ (Threatening) การใช้อำนาจด้วยการขู่ จะทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจ โกรธ ต่อต้านและขัดขืน
2.3 การใช้ศีลธรรม จรรยา (Moralizing) ทำให้รู้สึกผิด รู้สึกว่าทำตัวไม่เหมาะสม แปลความว่า “คุณไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าตัวเองควรปฏิบัติอย่างไร”
2.4 การใช้คำถามที่ไม่เหมาะสม (Excessive/ Inappropriate questioning) ใช้คำถามปลายปิด/ คำถามที่ไม่เหมาะสม เช่น ใคร ที่ไหน ผู้รับบริการรู้สึกว่าผู้ให้บริการกำลังสอดรู้สอดเห็น
2.5 การให้คำแนะนำ (Advising) ผู้ให้บริการไม่ได้รู้ชีวิตของผู้รับบริการทั้งหมด แม้กระทั่งคำแนะนำที่ดีที่สุดก็อาจไม่เหมาะสมกับผู้รับบริการ
3. การหลีกเลี่ยงที่จะตอบสนองต่อความกังวลใจของคู่สนทนา (Avoiding the other concern) ได้แก่
3.1 การเปลี่ยนเรื่องคุย (Diverting, humoring, distracting) เป็นการไม่ให้ความสนใจ ไม่เคารพในความรู้สึกและรู้สึกว่าถูกปฏิเสธ
3.2 การโต้แย้งด้วยหลักการและเหตุผล (Logical argument) เป็นการทำตัวเหนือกว่า จะนำไปสู่การปกป้องตนเองของผู้รับบริการ และการโต้เถียงกัน
3.3 การให้ความหวังแบบเลื่อนลอย (Reassuring) ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่บนข้อมูลที่เป็นจริง ผู้รับบริการจะรู้สึกว่า ผู้ให้บริการไม่เข้าใจในตัวเขา เป็นการง่ายที่จะพูดให้ความหวัง แต่ไม่เข้าใจว่าผู้รับบริการรู้สึกแย่อย่างไร เช่น “การที่คุณเลิกบุหรี่ ทำได้แน่นอน ถ้าเข้มแข็งพอ”
สรุปจากการ อบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในหลักสูตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับพยาบาลสู่การจัดการรายกรณีโรคเรื้อรัง” วันที่ ๑๖ – ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ : นางสาวภาวดี เหมทานนท์ (0)