แบบฟอร์มสำหรับส่งบทความเข้าคลังความรู้
วันที่บันทึก : ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗
ผู้บันทึก : นางสาวภาวดี เหมทานนท์ และ นางสาวขจิต บุญประดิษฐ
กลุ่มงาน : สุขภาพจิตและจิตเวช
ฝ่าย : -
ประเภทการปฏิบัติงาน: ประชุม
วันที่ ๘ – ๙ เมษายน ๒๕๕๗
หน่วยงาน/สถาบันที่จัด : -
สถานที่จัด : -
เรื่อง : การพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขด้วยกระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา เพื่อการจัดการเรียนการสอน
รายละเอียด
จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative education)
ข้อตกลงเบื้องต้นของการเรียนรู้จิตตปัญญา
1. ความหมายให้ไม่ได้ ที่สำคัญไม่ควรให้ความหมาย แต่เราจะเป็นผู้ให้ความหมายด้วยตัวเราเอง หลังจากมีการแลกเปลี่ยนเป็นระยะ ไม่ใช่เรื่องของการให้คำจำกัดความ แต่เป็นการให้ความหมายใหม่ของสิ่งที่เราได้เรียนรู้
2. ไม่อยากให้ผู้เรียนพยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ไปสู่ศาสนา / ลัทธิ/ ความเชื่อ เพราะจะกลายเป็น ไปเหมือนกับสิ่งนั้น เชื่อมโยงได้ แต่มี่คำตอบสุดท้ายสำหรับทุกสิ่ง
- จิตตปัญญา ไม่มีกิจกรรมที่ตายตัว เอาอะไรมาก็ได้
- เราเลียนแบบใครไม่ได้ เพราะคนละเงื่อนไข
จิตตปัญญา เป็นการกลับเข้ามาสู่มิติภายในกับตัวตนของตนเอง แต่ไม่ได้แยกออกจากคนอื่น หรือมิติภายในที่มีการเชื่อมโยงกับมิติภายนอก การที่คนเรามีกรอบ มีกติกา เงื่อนไข ให้เราทำเยอะมาก จนไม่เหลือเวลาให้กับตัวเอง
ข้อคิดจากกระบวนกร (ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน)
- ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแบบ change ตลอด แต่จะหมายถึง Transformation เป็นการเปลี่ยนขั้นพื้นฐาน คือเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ
- เราเรียน/ ศึกษาอะไรมาเยอะมาก แต่เพราะอะไร ไม่มีใครมาอธิบายถึงเบื้องหลังที่เราต้องเรียน
- ทุกสรรพสิ่งมีที่มา มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และมีการเปลี่ยนแปลง (แต่ปัจจุบัน เราไปแยก เราคิดแบบแยกส่วน) เช่น พฤติกรรมมนุษย์ เกี่ยวข้องอย่างไรกับการใช้ชีวิตในสังคม (น่าจะเป็นแนวการสอนแบบจิตตปัญญาในวิชาพฤติกรรมมนุษย์?- ความคิดของผู้สรุป)
- การศึกษาควรเอื้อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง (ไม่ใช่รู้เท่า / รู้ทัน) เราจะสอนอย่างไร เพราะขณะนี้นักศึกษารู้เท่าที่เราสอน
- สิ่งที่ขาดไปในการศึกษา ในปัจจุบันคือ การขาดการเตรียมความพร้อม ก่อนเข้าเรียน เราจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าสู่บรรยากาศของความพร้อมก่อนเข้าเรียน
โดยสิ่งที่ต้องคำนึง คือ ต้องดูว่าผู้เรียนมีพื้นฐานทางความเชื่ออย่างไร (อย่าทำให้บางคนอึดอัดด้วยพิธีกรรมทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง) เพื่อให้เกิดศูนย์รวมของกลุ่มที่จะเรียนรู้ต่อ ทำให้อยู่กับตัวเรา อยู่กับความพร้อม ซึ่งจะใช้กิจกรรมอะไรก็ได้ ให้พร้อมทั้งตัวและใจ ไม่ใช่แค่การ introduction ที่ทำกัน
แนวคิดของจิตตปัญญา
4 หลักการ/ ความเชื่อเบื้องต้นของจิตตปัญญา
3 กระบวนการหลักที่สำคัญของจิตตปัญญา
3 ฐานการเรียนรู้
เข้ารวมเป็นเนื้อเดียวกันกับตัวเรา ฝังลึกเข้าไปในตัวเรา เมื่อเราเปลี่ยน แล้วจะออกมา ลูกศิษย์จะสัมผัสได้เลย (บอกถึงอาจารย์แนวจิตตปัญญา) เพราะความไว้ใจจะเกิดขึ้น
หลักการ/ ความเชื่อเบื้องต้นของจิตตปัญญา 4 ประการ
1. ยอมรับในความมีศักดิ์ศรีของมนุษย์
วิธีทดสอบ: เราพูดเราทำอะไรหรือไม่ที่ทำให้ลูกศิษย์สูญเสียความมีศักดิ์ศรีบ้างหรือไม่ ทั้งวาจา/ท่าทาง ผล: ทำให้เราใจเย็นมากขึ้น
2. ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล
มนุษย์เรียนรู้ได้ พัฒนาได้ แต่ช้าเร็วต่างกัน
วิธีทดสอบ: เราเคยเผลอไหม เช่น เพราะอะไรเธอไม่ทำเหมือนเขา แต่จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การทำให้เหมือน คือความอยุติธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้ เราไม่ควรเอามาตรฐานมาเป็นข้ออ้าง อย่าทำให้แต่ละคนเหมือนกัน จงทำให้แต่ละคนแตกต่างกันมากที่สุด นั่นคือเขาจะมีแนวทางของเขาเอง
ความเชื่อที่ 1 และ 2 สำคัญมากของความเป็นครู + ความเป็นพยาบาลวิชาชีพ
ถ้า 2 ความเชื่อนี้ยังไม่ฝังลึก ก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นครู และพยาบาลวิชาชีพ
2 ความเชื่อนี้ ทำให้เรามีสติ ไม่ดูถูกคนอื่น บอกความเป็นครูของผู้ที่จะไปประกอบอาชีพพยาบาลที่ดูแลคนอื่น
การยอมรับ 2 ข้อนี้ ทำให้เราเข้าใจความเป็นคน จะมองความแตกต่างเป็นความสวยงาม เพราะถ้าโลกนี้เหมือนกันหมด จะน่าเบื่อมาก
3. ยอมรับ และเคารพความเป็นองค์รวม (Holism)
แตกต่างจาก Wholism ที่หมายถึง วิธีการศึกษาทีละส่วน จนครบ
ตัวที่บ่งบอกความเป็นองค์รวม คือ ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ยิ่งสัมพันธ์กันเท่าไหร่ ยิ่งมีความเป็นองค์รวมมากขึ้น บนความสัมพันธ์นี้จะกลายเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่การกองรวม
ความสำคัญ: ครู – ลูกศิษย์มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ครูต้องสร้างความเป็นองค์รวมกับลูกศิษย์ให้ได้
ถ้าคิดว่าเกิดจากสิ่งอื่น เป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบของตัวเอง ไม่เชื่อข้อ 3
4. การเรียนรู้ที่แท้จริง (authentic learning)
กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง เกิดขึ้นภายในผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ ไม่มีขั้นตอนที่ชัดเจน
ในเชิงจิตวิทยา เชื่อว่า การเรียนรู้ถึงจุดสูงสุด ภายใต้บรรยากาศ
1) บรรยากาศเป็นกันเองสบายๆ
2) มีความเครียดบ้างเป็นระยะๆ แต่อย่าให้ถึงจุด anxiety เพราะจะทำให้มนุษย์นำ defence mechanism มาใช้ โดยเฉพาะ Projection
การเรียนรู้ที่แท้จริง คือการเกิดปิ๊งแว๊บ หรือการตรัสรู้ชั่วคราว (พระพุทธทาส)
ทุกวัน ให้หยุดอยู่กับ 4 ความเชื่อนี้ กับตัวเรา 5 นาที ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันหมด
กระบวนการของจิตตปัญญา 3 ประการ
1. สุนทรียสนทนา (กระบวนกรไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้โดยละเอียด แต่ให้ลงมือปฏิบัติเลย) ผู้สรุปจึงของยกบทความมาเป็นสาระ ดังนี้
จาก คอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2552
ใช่ว่าความรู้ทุกอย่างจะถูกถ่ายทอดให้เข้าใจได้ด้วยการบอกเล่าและบรรยาย ถึงแม้ว่าพวกเราคงจะคุ้นเคยกับการเล่าเรียนมาด้วยการฟังครูสอนหน้าชั้น แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของการเรียนรู้ ความรู้และทักษะหลายสิ่งในชีวิตที่เราได้มา มันมาจากการได้ทำและมีประสบการณ์ด้วยตนเอง การบรรยายจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
อาจารย์ท่านหนึ่งเคยเปรียบไว้ว่า หากมีผลไม้อยู่ชนิดหนึ่งซึ่งเราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยลิ้มชิมรสมาก่อน แต่ให้ผู้ที่เคยเห็นและได้ชิมมาบอกเล่าแก่เรา ต่อให้เขามีเวลามากเพียงไหน หรือเขามีทักษะในการเลือกใช้ถ้อยคำเพียงไร อย่างมากก็อุปมาให้ใกล้เคียง และเราอาจคิดนึกไปว่าเราพอจะเห็นภาพและเข้าใจได้แล้ว เป็นการทึกทักไปเอง เป็นความรู้ท่องจำที่เข้าใจแต่ยังไม่ได้เข้าไปถึงใจของเรา
สุนทรียสนทนาก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน เครื่องมืออันมีชื่อเสียงรู้จักกันอย่างแพร่หลายนี้มีผู้เขียนหนังสือและบทความให้อรรถาธิบายไว้หลากรูปแบบ ทั้งถ่ายทอดบรรยากาศ แจกแจงถึงหลักการสำคัญ ตลอดจนยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงในวงสุนทรียสนทนาขึ้นมาให้เห็นภาพ แต่ในพวกเราทั้งหลายจะมีใครที่เพียงแค่อ่านเท่านั้นก็เข้าถึงหัวใจของสุนทรียสนทนา และเข้าใจมันจากใจของเราจริงๆ ความเข้าใจนี้เกิดจากการได้ใคร่ครวญจิตใจตนจนสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นปัญญาความเข้าใจในใจของเรา ไม่ใช่นึกว่าเข้าใจด้วยการใช้สมองคิดวิเคราะห์เท่านั้น
การฝึกอบรมกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาว่าด้วยเรื่องสุนทรียสนทนาจึงไม่อาจเป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นได้หากขาดไร้โอกาสร่วมอยู่ในวงสุนทรียสนทนาด้วยตนเอง ลำพังเพียงการฟังบรรยายนั้นมักช่วยให้เราได้แค่รู้จำเท่านั้น ระหว่างฟังบรรยายเล่าเรื่องหลักการและแนวทาง หลายคนอาจคิดเชื่อมโยงเปรียบเทียบสุนทรียสนทนากับแนวทางการประชุมอื่นๆ ที่เคยได้ศึกษามาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในหมู่ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการและการศึกษา ตลอดจนกลุ่มผู้มีสติปัญญามาก แต่หากการคิดวิเคราะห์นั้นนำไปสู่ผลสรุปว่ารู้แล้วเข้าใจแล้ว ก็เท่ากับว่าเราพลาดโอกาสการใช้ใจใคร่ครวญจนนำสุนทรียสนทนาให้เข้ามาถึงใจได้
วงฝึกหัดสุนทรียสนทนานั้นแตกต่างไปจากหลักการเนื้อหามาก เราอาจคิดว่าคุณสมบัติของการฟังอย่างลึกซึ้งนั้นเป็นเรื่องไม่ยาก แต่หากได้ย้อนกลับมาดูตัวเราขณะอยู่ในวงสนทนา ว่าเราสามารถฟังผู้พูดได้ทั้งหมดทุกเรื่องราวและความรู้สึกทุกอย่างของเขาได้อย่างไร และมากน้อยเพียงใด นั่นแหละคือโอกาสที่เราอาจได้ตระหนักอย่างแท้จริงว่าความสามารถที่ดูง่ายๆ แค่ฟังอย่างลึกซึ้งนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องที่รู้จักจำได้แล้วจะสามารถทำได้
ความเงียบก็เช่นเดียวกัน ทั้งยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากในวงฝึกหัดสุนทรียสนทนา ถึงแม้ว่าจะได้รับฟังบรรยายไปแล้วว่าความเงียบเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา และเราสามารถฟังความเงียบนี้ได้ แต่พวกเราส่วนใหญ่มักรู้สึกอึดอัดทนไม่ได้ หลายคนทำลายความเงียบลงด้วยการพูดเปิดประเด็นในเรื่องที่ตนสนใจ บางคนฝ่าความเงียบด้วยเรื่องตลกขบขัน แต่ในช่วงขณะนั้นดูเหมือนทั้งวงจะลืมไปเสียแล้วว่าเราไม่ได้พูดคุยเพื่อผลัดกันเล่าเรื่องทีละคน ลืมไปว่าเราไม่ได้มาเจรจาเพื่อหาข้อสรุป
ความเงียบกลายเป็นสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ของวงสนทนา พร้อมกับเราที่พลาดโอกาสจะได้ฟังเสียงที่เกิดขึ้นในใจของตัวเอง เราละเลยช่วงเวลาที่จะได้ใช้ใจใคร่ครวญเห็นความรู้สึกอึดอัดหรือความคาดหวังที่ไม่ได้รับการตอบสนอง
เหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในการบรรยาย
เพราะการเรียนรู้นั้นเกิดที่ใจของเราเอง
2. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ให้ฟังอย่างห้อยแขวนความคิดไว้ก่อน / ฟังแบบไม่ตัดสิน
ในกระบวนการเรียนรู้ที่จะฟังอย่างลึกซึ้งนั้น เราจะต้องเริ่มที่ “รู้จักตัวเอง” ก่อน แล้วรู้จักตัวเองอย่างไรล่ะที่จะเป็นภาชนะบรรจุคนอื่นทั้งตัวลงไปในเราได้? ชีวิตได้สร้างโลกภายในขึ้นมาล้อกับโลกภายนอก จึงจะทำให้ชีวิตอ่านโลกภายนอกได้ เราจะเข้าใจโลกภายนอกได้ เราต้องสร้างแบบจำลองโลกภายในขึ้นมาล้อกัน
“จะแก้ไขการฟังอย่างไร ให้มีพลัง ให้การฟังเป็นพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงของเรา?”
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2555
ความคิดที่ก่อประกอบเป็นโลกภายใน ที่ล้อกับโลกภายนอก เพื่อจะรับรู้ เรียนรู้และเข้าใจโลกภายนอก เพื่อที่จะกระทำต่อโลกภายนอกได้อย่างเหมาะสมนั้น ไม่ได้มีอิสระไปเสียเลยทีเดียว แต่ยังผูกพันอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก ผูกพันทั้งที่รับรู้ได้ และผูกพันแบบเราไม่ได้รับรู้ หลายคนคิดว่าตัวเองมีแต่ความคิด ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก จริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? งานวิจัยทางสมองระบุว่า ความคิดกับอารมณ์ความรู้สึกไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พอไปผนวกกับความเป็นอัตโนมัติด้วยแล้ว ทั้งความคิดและอารมณ์ที่ไปด้วยกันนั้น ก็จะเป็นไปอย่างอัตโนมัติและหลับใหลด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของเราได้ง่ายๆ เพราะชีวิตของเรามีแผนที่เดิมๆ ด้วยความรู้สึกเดิมๆ อย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล
ทีนี้ ชีวิตมีอยู่สองโหมด โหมดปกติกับโหมดปกป้อง ในโหมดปกป้องนั้น เราถูกผูกติดอยู่กับปมทางจิตวิทยาอันเกิดจากการที่เราถูกทำร้ายทางจิตใจ (บางกรณีก็พร้อมไปกับการทำร้ายทางร่างกายด้วย) ในอดีต อาจจะในวัยเด็ก และแล้วในโหมดปกป้อง เราจะจมอยู่ในหลุมหรือร่องเดิมๆ ที่เราไม่อาจก้าวออกมาได้ ทำให้หลายคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต ปมจิตวิทยาเหล่านี้ทำงานในจิตไร้สำนึก หรือจิตใต้สำนึก มันฉุดเราไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปทางใดได้ แต่ให้เราอยู่ที่เดิม อยู่ในหลุม ในกรอบแคบๆ ของสิ่งที่เราเรียกว่า “อัตลักษณ์” หรือ “ความเป็นตัวของตัวเอง”
โหมดปกติก็ไม่ได้ดีกว่าโหมดปกป้องนัก งานวิจัยล่าสุดมากๆ เหมือนกัน ระบุว่า สมองที่หยุดจากการทำงานไม่ได้รับรู้โลกภายนอก และไม่ได้กระทำการกับโลกภายนอก สมองในเวลาว่างๆ ที่อาจจะเพลินๆ นั้น ปรากฏว่าสมองกำลังเคี้ยวเอื้อง หรือ ruminate กำลังคิดย้อนอดีต และคาดการณ์อนาคตอย่างอัตโนมัติและหลับใหล ดังนั้น ความรู้สึกลบๆ ความคิดลบๆ แบบอัตโนมัติก็จะค่อยๆ เข้ามาครอบครอง แล้วเราก็อาจจะตกลงไปในโหมดปกป้องได้อีก มันเป็นการทำงานของสมองที่ขาดความตั้งใจ ความใส่ใจและความตื่น พระพุทธองค์จึงทรงพูดถึง “การปรารภความเพียร” บ่อยครั้งมาก
ทีนี้ หากสมองทำงานด้วยความตื่น ด้วยความใส่ใจ การจะเป็นไปอย่างตรงกันข้าม มันเป็นการกระตุ้น หรือปลุกเร้าสมองส่วนหน้าให้ทำงาน สมองส่วนหน้าเป็นวิวัฒนาการล่าสุดและสูงสุด มันคือตาที่สาม อยู่ในตำแหน่งตาที่สามพอดีๆ มันทำให้เราตื่นตัว เท่าทันความคิดความรู้สึกได้ ถอยตัวออกมาได้ ไม่ติดกับดักหลุมพรางของอัตตาตัวตนอีกต่อไป หากสามารถเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงการฟังของเราได้ ให้ไปพ้นจากกรอบแคบของอัตตา อัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวของตัวเอง เราสามารถรื้อสร้าง รื้อโลกภายในของเราออกและสร้างใหม่ ซึ่งได้แก่ความคิดและความรู้สึก เมื่อเกิดความคิดใหม่ๆ ความรู้สึกๆ ใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้
3. การสะท้อนการเรียนรู้ (Learning reflection)
ตัวที่จะบ่งบอกจิตตปัญญา คือ Learning reflection แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า content ไม่สำคัญ
ระดับของการสะท้อนการเรียนรู้
1) สะท้อนส่วนเนื้อหา
2) สะท้อนกระบวนการ
3) สะท้อนความเชื่อเบื้องหลังการถ่ายทำ คือการสะท้อนตัวเราเอง ว่าเราเชื่อแบบนั้น เวลาที่เราตัดสินใจอะไรลงไป เรารู้ไหมว่าเราเชื่ออะไรอยู่
4) การสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ความคาดหวัง ของคน ส่วนใหญ่จะถูกละเลย ถ้าอาจารย์ทำตัวให้ปราศจากอารมณ์และความรู้สึก ไม่ได้มองแบบคน แต่มองแบบเครื่องจักร
การประเมิน: – กิจกรรมนั้นเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการประเมินผู้เรียนได้ โดยเป้าหมายสูงสุดของผลการประเมินคือ ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในตัว (ความเชื่อ ความคิด)
-ผู้ประเมิน เช่น ให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ให้เพื่อนที่ร่วมเรียนประเมิน อาจารย์ผู้สอน จะต้องคุยกันก่อนใน ชั่วโมงแรก
-วิธีการ เช่น การพูดสดๆ ในกลุ่ม มีข้อดี คือ เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน (เอาสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา เอาสิ่งที่อยู่ข้างนอกเข้าไปข้างใน) แต่อาจจะ ปิ๊งแว๊บ ช้า เร็ว ต่างกันการเขียนบันทึก
- หัวข้อ วันนี้เรียนรู้อะไรบ้าง (เนื้อหา อารมณ์ คุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น ความคาดหวังที่เขาควรจะได้รับต่อไป)
-จำนวนครั้ง ทำเป็นบันทึกการเดินทาง (Journey) ความถี่ 2 สัปดาห์/ ครั้ง
“ความมีกรอบ มีกติกา เงื่อนไข ให้เราต้องทำกิจกรรมเยอะมาก จนไม่เหลือเวลาให้กับตัวเอง”
Intuitive free writing ทำเพื่อ
1. เพื่อดูความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องที่เราจะสอนเขา (ผู้มีประสบการณ์แล้ว) อยากรู้ว่าเข้าใจตรงกันไหม
2. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สอนรู้พื้นฐานของผู้เรียนว่าเข้าใจกี่มากน้อย
ด้านสมรรถนะ
ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ การทำผลงาน
ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงาน
การเรียนการสอน
การพัฒนานาบุคลากร และนักศึกษา
ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาต่อ
การเรียนการสอนในทุกรายวิชา
การบริการวิชาการ
พัฒนาบุคลากรการ
การวิจัยและ/ผลงานทางวิชาการ
การพัฒนานักศึกษา
(548)