การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตร และปฏิรูปรูปแบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษากันอย่าง กว้างขวางด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาทิเนื้อหาแน่นมาก และไม่สอดคล้องกับการนำไปใช้ในสถานการณ์จริงที่บัณฑิตจะออกไปทำงาน  การเรียนการสอนเน้นการท่องจำมากกว่าการคิดและการแก้ปัญหา   การเรียนการสอนไม่ได้เตรียมผู้เรียนให้มีการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีพ   ผู้เรียนไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้  การเรียนเรียนไปเพื่อสอบ เป็นต้น  มีการนำแนวทางการศึกษาโดยเฉพาะการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  การเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (adult learning) มาใช้ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem based learning, PBL) ก็เป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่มีปรัชญาสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว   การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานได้เริ่มแพร่หลาย  ตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ได้นำเอาไปใช้เป็นหลักสูตรทั้งหมดของโรงเรียนแพทย์ เมื่อ พ.ศ.2512 จากนั้นจึงมีผู้ให้ความสนใจและนำมาใช้กลยุทธ์ในการจัดการเรียนการสอนทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานคืออะไร
มีผู้ให้นิยามของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานไว้หลากหลาย  Barrow (พ.ศ.2523)  ได้นิยามว่า “เป็นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นหรือบริบทให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ แสวงหาและบูรณาการ ความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ในสภาพการณ์จริง  โดยผู้เรียนอาจไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือพื้นฐาน เรื่องนั้นมาก่อน”  จากนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ใช่ผู้สอน  ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบโจทย์ปัญหาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
จัดบรรยากาศการเรียนรู้และเตรียมทรัพยากรการเรียนรู้  (learning resource) ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ  โดยผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (facilitator) 

ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานประกอบด้วย  (1) ใช้ปัญหาที่สอดคล้องกับ สถานการณ์จริงเป็นตัวกระตุ้นหรือจุดเริ่มต้นในการแสวงหาความรู้  (2) การบูรณาการเนื้อหาความรู้ในสาขา ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น  (3) เน้นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ  (4) เรียนเป็นกลุ่มย่อย โดยมีครูหรือผู้สอนเป็นผู้สนับสนุนและกระตุ้น ผู้เรียนต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิด ขึ้นในกลุ่ม  (5) เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตนเองหรือ กลุ่มตั้งไว้

วัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ได้แก่ 1.ได้ความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทจริงและสามารถนำไปใช้ได้  2.พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาน การให้เหตุผล และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผล  3. ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง  4. ผู้เรียนสามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ   5. เป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน  6. ความคงอยู่ (retention) ของความรู้จะนานขึ้น

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และการเรียนรู้เพื่อการแก้ปัญหา (problem solving learning) ต่างกันอย่างไร การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะเน้นที่การกำหนดสิ่งที่จะเรียนรู้และกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ใหม่เพื่ออธิบายปัญหาที่พบ  ส่วนการเรียนรู้เพื่อปัญหาจะเน้นที่การประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีอยู่และตัดสินใจทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหานั้นๆ จะเห็นว่าการเรียนรู้ทั้งสองแบบไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่จะมีความสัมพันธ์กันและเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานสอดคล้องกับแนวคิดทางการศึกษาอย่างไร  การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning)  โดยเริ่มจากการได้ประสบการณ์ตรงจากโจทย์ปัญหา  ผ่านกระบวนการคิดและการสะท้อนกลับ (reflection) นำไปสู่ความรู้และความคิดรวบยอดอันจะนำไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ต่อไป

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะสอดคล้องกับแนวคิดการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (adult learning) ซึ่งผู้เรียนจะกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของตนเอง  เรียนรู้เมื่อสิ่งนั้นมีความหมายหรือนำไปใช้ได้ (เนื่องจากโจทย์ปัญหาจะถูกใช้เป็นบริบทของการเรียนรู้)  เรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับใช้แก้ปัญหามากกว่าจะเรียนเพื่อท่องจำ  เรียนรู้ตามความถนัดและศักยภาพของตนเอง  และสามารถประเมินตนเองเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และสิ่งที่เรียนรู้ได้  การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานยังเป็นการตอบสนองต่อแนวคิด constructivism โดยให้ผู้เรียนวิเคราะห์หรือตั้งคำถามจากโจทย์ปัญหา ผ่านกระบวนการคิดและสะท้อนกลับ  เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในกลุ่ม เน้น active และ collaborative learning นำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบหรือสร้างความรู้ใหม่บนฐานความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีมาก่อนหน้านี้  นอกจากนี้การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานยังเป็นการสร้างเงื่อนไขสำคัญที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ (1) activation of prior knowledge การเรียนรู้สิ่งใหม่จะได้ผลดีขึ้น ถ้าได้มีการเชื่อมโยงหรือกระตุ้น ความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่  (2) encoding specificity การเรียนรู้เนื้อหาที่ใกล้เคียงสถานการณ์จริงหรือมีประสบการณ์ตรง (จากโจทย์ปัญหา) จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้นและ (3) elaboration of knowledge เนื่องจากการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นการเรียนกลุ่มย่อย การได้แสดงออก แสดงความคิดเห็นหรือ อภิปรายถกเถียงกันจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเรียนรู้สิ่งนั้นได้ดีขึ้น

กระบวนการการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นอย่างไร  ในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน จะจัดผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย ขนาดประมาณ 8-10 คน โดยมีครู หรือผู้สอนประจำกลุ่ม 1 คน ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (facilitator) กระบวนการจะประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1.  เมื่อผู้เรียนได้รับโจทย์ปัญหา ผู้เรียนจะทำความเข้าใจหรือทำความกระจ่างในคำศัพท์ที่อยู่ในโจทย์ปัญหานั้น เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

2.  การจับประเด็นข้อมูลที่สำคัญหรือระบุปัญหาในโจทย์

3. ระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ปัญหา อภิปรายหาคำอธิบาย แต่ละประเด็นปัญหาว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ความเป็นมาอย่างไร โดยอาศัยพื้นความรู้เดิมเท่าที่ผู้เรียนมีอยู่

4.  ตั้งสมมติฐานเพื่อหาตอบปัญหาประเด็นต่างๆ พร้อมจัดลำดับความสำคัญของสมมติฐานที่ เป็นไปได้อย่างมีเหตุผล

5.  จากสมมติฐานที่ตั้งขึ้น ผู้เรียนจะประเมินว่าเขามีความรู้เรื่องอะไรบ้าง มีเรื่องอะไรที่ยังไม่รู้หรือขาดความรู้ และความรู้อะไรจำเป็นที่จะต้องใช้เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน ซึ่งเชื่อมโยงกับโจทย์ปัญหาที่ได้ ขั้นตอนนี้กลุ่มจะกำหนดประเด็นการเรียนรู้ (learning issue) หรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (learning objective) เพื่อจะไปค้นคว้าหาข้อมูลต่อไป

6.  ค้นคว้าหาข้อมูลและศึกษาเพิ่มเติมจากทรัพยากรการเรียนรู้ต่างๆ เช่น หนังสือตำรา วารสาร สื่อการเรียนสอนต่างๆ การศึกษาในห้องปฏิบัติการ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน อินเทอร์เน็ต หรือปรึกษาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาสาขาเฉพาะ เป็นต้น พร้อมทั้งประเมินความถูกต้อง

7.  นำข้อมูลหรือความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์ อธิบาย พิสูจน์สมมติฐานและประยุกต์ให้เหมาะสมกับ โจทย์ปัญหา พร้อมสรุปเป็นแนวคิดหรือหลักการทั่วไป

ขั้นตอนที่ 1-5 เป็นขั้นตอนภายในกระบวนการกลุ่มในห้องเรียน
ขั้นตอนที่ 6 เป็นกิจกรรมของผู้เรียนรายบุคคลนอกห้องเรียน และ
ขั้นตอนที่ 7 เป็นกิจกรรมที่กลับมาในกระบวนกลุ่มอีกครั้ง

บทบาทของครูเปลี่ยนไปอย่างไรในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  บทบาทของครูหรือผู้สอนประจำกลุ่ม จะทำหน้าที่สนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาในการเรียนกลุ่มย่อย เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มิได้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาโดยตรง ทักษะการตั้งคำถามที่เหมาะสมจึงเป็นทักษะที่จำเป็นของครูหรือผู้สอนประจำกลุ่ม บทบาทที่สำคัญ ได้แก่ การกระตุ้นและส่งเสริมกระบวนการกลุ่ม  การช่วยประธานควบคุมกิจกรรมกลุ่มให้กลุ่มดำเนินการตามขั้นตอนของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนและเน้นให้ผู้เรียนตระหนักว่าการเรียนรู้เป็นความรับผิดชอบของผู้เรียน  กระตุ้นให้ผู้เรียนเอาความรู้เดิมที่มีอยู่มาใช้อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็น  ช่วยสนับสนุนให้กลุ่มสามารถตั้งประเด็นหรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้ได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน  หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นหรือตัดสินว่าถูกหรือผิด ส่งเสริมให้ผู้เรียนประเมินการเรียนรู้ของตนเอง  รวมทั้งเป็นผู้ประเมินทักษะของผู้เรียนและกลุ่มพร้อมการให้ข้อมูลย้อนกลับ

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานมีจุดเด่นและจุดด้อยอะไรบ้าง

จากงานวิจัยหลายชั้นพบว่าการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ผู้เรียนจะมีทักษะในการตั้งสมมติฐานและการให้เหตุผลดีขึ้น สามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ทำงานเป็นกลุ่มและสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพ ความคงอยู่ของความรู้นานกว่าการเรียนแบบบรรยาย  นอกจากนั้นบรรยากาศการเรียนรู้มีชีวิตชีวา จูงใจให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้มากขึ้น และยังส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างภาควิชาหรือหน่วยงาน

จุดด้อยหรือข้อจำกัดของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน  ได้แก่ ครูมีความกังวลว่าผู้เรียนจะมีความรู้น้อยลง  ความรู้ที่ได้รับจะไม่เป็นระบบ  ความถูกต้องของเนื้อหาหรือ  ข้อมูลที่ผู้เรียนไปค้นคว้าศึกษามา  ตลอดจนครูต้องมีทักษะที่หลากหลายมากกว่าการสอนแบบบรรยาย ในส่วนของผู้เรียนจะกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของเนื้อหาไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ตนเองไปเรียนรู้มาถูกต้องหรือไม่  ขอบเขตของการเรียนรู้ต้องเรียนรู้มากน้อยเพียงไร  รวมถึงความแตกต่างกันของครูหรือผู้สอนประจำกลุ่ม  นอกจากนี้อาจยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณหรือสิ่งสนับสนุนที่ใช้จำนวนครู  การบริหารจัดการซึ่งต้องมีการประสานงานและร่วมมือกันอย่างดีระหว่างภาควิชา  และเวลาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน

คุณภาพของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะขึ้นกับปัจจัยต่อไปนี้ 

1.  ความสำคัญของเนื้อหา ต้องเลือกเนื้อหาที่เป็นแกนหรือหลักการและสอดคล้องกับการนำไปใช้ในสถานการณ์จริง

2. คุณภาพของโจทย์ปัญหา  ต้องเลือกปัญหาที่พบบ่อยในสถานการณ์จริงและสร้างปัญหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร  ปัญหาที่ดีจะต้องน่าสนใจและกระตุ้นให้ผู้เรียน  สามารถอภิปรายและเรียนลงไปในระดับลึกจนเข้าใจแนวคิดของปัญหามากกว่าการท่องจำ สามารถเชื่อมโยงความรู้เดิมของผู้เรียนกับข้อมูลใหม่

3. กระบวนกลุ่ม  ทั้งครูและผู้เรียนต้องเข้าใจพลวัตรของกระบวนการกลุ่ม บทบาทของแต่ละคนในกลุ่ม  กระบวนการกลุ่มที่ดีจะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

4. บทบาทและทักษะของครู  ครูหรือผู้สอนยังมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  แต่จะเปลี่ยนไปจากการสอนแบบบรรยายดังได้กล่าวมาแล้ว

5. การพัฒนาทักษะต่างๆของทั้งครูและผู้เรียน  ครูอาจไม่มั่นใจตนเองในการที่ต้องเป็นครูในวิชาที่ตนไม่ชำนาญ ครูจะต้องได้รับการพัฒนาและฝึกทักษะต่างๆ ของการเป็นครูประจำกลุ่ม  จะช่วยให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จมากขึ้น ผู้เรียนก็จะต้องได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและการเตรียมความพร้อมก่อนการเรียนแบบนี้

6. ทรัพยากรการเรียนรู้ เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลหรือความรู้ที่สำคัญ  การเตรียมและจัดหาแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลาย  พร้อมทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  7. การบริหารจัดการความร่วมมือและประสานงานกันระหว่างภาควิชาหรือหน่วยงาน  ตลอดจนการวางแผนที่เหมาะสมจะทำให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ

สรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ด้านการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก วันที่ 23-24 กันยายน 2558 หน่วยงานที่จัด  วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี: นางสาวจีรภา  แก้วเขียว (0)

Comments are closed.