หลักการข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดพฤติกรรมที่เกี่ยวกับความคิด (thinking) ซึ่งเป็นความสามารถทางสมองหรือด้านสติปัญญา เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับวิชาการ หรือที่เรียกว่าพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย (Cognitive domain) เป็นพฤติกรรมที่เป็นผลการเรียนของผู้เรียน และเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการศึกษา เพื่อต้องการตัดสินว่าในการเรียนการสอนผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนหรือเกิดการพัฒนางอกงานขึ้นมาจากการฝึกฝนอบรมสั่งสอนระดับใด ทั้งนี้การวัดผลการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ จะใช้ข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และนิยมใช้เป็นเครื่องมือหลักสาหรับการวัดผลการเรียนรู้ ในการสร้างข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ให้มีคุณภาพนั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงความครอบคลุมเนื้อหาและใช้คาถามที่ดีแล้ว จำเป็นต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เป็นจุดมุ่งหมายของหลักสูตร กล่าวคือ ต้องพยายามเขียนคำถามวัดพฤติกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของรายวิชานั้น ๆ ด้วย ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ ๖ ชนิด ตามที่บลูมและคณะ (Bloom, B.S. et.al.,๑๙๕๖) ได้จำแนกไว้ และแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ อีก ดังนี้
ความรู้ – ความจำ (Knowledge)
การวัดความรู้ความจำ หมายถึง การวัดความสามารถในการระลึก (recall) เรื่องราว ข้อเท็จจริงหรือประสบการณ์ต่าง หรือเป็นการวัดการระลึกประสบการณ์เดิมที่ผู้เรียนได้รับจากคำสอน การบอกกล่าว การฝึกฝนของผู้สอน รวมทั้งจากตำรา จากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ
๑. ความรู้ในเนื้อเรื่อง (Knowledge of Specifics) เป็นการถามรายละเอียดของเนื้อหา ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของเรื่องราวทั้งหลาย แบ่งคำถามที่ใช้วัดออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.๑ ศัพท์และนิยาม (Terminology) คำถามเกี่ยวกับความหมายของคำ คำศัพท์ คำนิยาม คำจำกัดความต่าง ๆ
๑.๒ กฎและความจริง (Specific facts) คำถามที่เกี่ยวกับ สูตร กฎ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ใจความหรือรายละเอียดของเนื้อหาต่าง ๆ
๒. ความรู้ในวิธีดำเนินการ (Knowledge of Procedures) เป็นการถามวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ แบบแผนประเพณี ขั้นตอนของการปฏิบัติทั้งหลาย แบ่งคำถามที่ใช้ออกเป็น ๕ ประเภท คือ
๒.๑ ระเบียบแบบแผน (Conventions) คำถามเกี่ยวกับวิธีประพฤติปฏิบัติตามระเบียบประเพณี หรือวัฒนธรรมของสังคม รวมทั้งแบบแผนการปฏิบัติในสิ่งต่าง ๆ ที่คนส่วนใหญ่นิยมปฏิบัติ
๒.๒ แนวโน้มและลำดับขั้น (Trends and Sequences) คำถามเกี่ยวกับขั้นตอนของการปฏิบัติและการหาความเอนเอียงหรือแนวโน้มของสิ่งที่จะเป็นไป คำถามมักจะถามเกี่ยวกับ ลำดับขั้นหรือขั้นตอนในการปฏิบัติ ลำดับเวลาของเหตุการณ์หรือเรื่องราว
๒.๓ การจัดประเภทและระบบการจำแนก (Classifications and Categories) คำถามเกี่ยวกับความสามารถในการจำแนกแจกแจงชนิด การจัดหมวดหมู่ หรือประเภทของสิ่งของ เรื่องราว โดยยึดกฎเกณฑ์ หรือวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นหลัก
๒.๔ เกณฑ์ (Criteria) คำถามเกี่ยวกับความสามารถในการจดจาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ หรือข้อกำหนดที่ยึดเป็นหลักสำหรับการพิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริง การกระทำ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ว่าคืออะไร ใช้สำหรับตัดสินสิ่งใด
๒.๕ วิธีการ (Methodology) คำถามเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติหรือกรรมวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์หรือเกิดผลตามที่ต้องการ โดยถามถึงวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จนทำให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพ
๓. ความรู้รวบยอดในเนื้อเรื่อง (knowledge of the Universals and Abstractions) เป็นการถามความสามารถในการจดจำข้อสรุปหรือหลักการของเรื่องที่เกิดจากการผสมผสานหาลักษณะร่วม เพื่อรวบรวมและย่นย่อลงมาเป็นหลักหรือหัวใจของเนื้อหานั้น ๆ คาถามความรู้รวบยอดมี ๒ ชนิด คือ
๓.๑ หลักวิชาและการขยาย (Principles and Generalizations) คำถามเกี่ยวกับสาระสำคัญ ๆ ของเรื่องที่ได้มาจากการสรุปลักษณะปลีกย่อยหรือรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมทั้งความสามารถในการนำหลักเหล่านั้นไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งอื่น
๓.๒ ทฤษฎีและโครงสร้าง (Theories and Structures) คำถามเกี่ยวกับความสามารถในการโยงความสัมพันธ์จากรายละเอียดหรือหลักวิชาต่าง ๆ มาลงสรุปเป็นเนื้อหาสาระสำคัญจนตั้งเป็นกฎเกณฑ์ ทฤษฎี หรือโครงสร้างที่มีลักษณะร่วมกัน
ความเข้าใจ (Comprehension)
การวัดความเข้าใจ หมายถึง การวัดความสามารถในการนำความรู้ความจาไปดัดแปลง ปรับปรุงเพื่อให้สามารถจับใจความ อธิบาย หรือเปรียบเทียบ ย่นย่อเรื่องราว ความคิด ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ทั้งยังสามารถอธิบายและเปรียบเทียบสิ่งที่มีลักษณะและสภาพคล้ายคลึงเป็นทำนองเดียวกับของเดิมได้ บุคคลที่มีความเข้าใจในสิ่งใด จะสามารถแปลความหมายหรือตีความหรือขยายความเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้ คำถามที่ใช้วัดความเข้าใจแบ่งออกได้ ๓ ชนิด คือ
๑. การแปลความ (Translation) เป็นการถามที่ให้อธิบายความตามลักษณะและนัยของเรื่องราวต่าง ๆ โดยให้แปลงเรื่องราวเดิมออกมาเป็นคำพูดใหม่ ลักษณะใหม่ตามเลศนัยเดิม
๒. การตีความ (Interpretation) เป็นการถามความสามารถในการโยงความสัมพันธ์ ของรายละเอียดต่าง ๆ ของเรื่องราว เพื่อนำมาอธิบาย เรียบเรียง บันทึกในแง่มุมใหม่ ทั้งนี้จะต้องอาศัยการค้นหาเปรียบเทียบทั้งรายละเอียดและสิ่งที่เป็นเงื่อนงำต่าง ๆ เพื่อแปลความหมาย แล้วนำสิ่งที่แปลความได้นั้นมาเปรียบเทียบ พิจารณาต่ออีกขั้นหนึ่ง
๓. การขยายความ (Extrapolation) เป็นการถามความสามารถในการใช้ข้อเท็จจริงหรือสภาพในปัจจุบันไปพยากรณ์หรือขยายความคิด คาดคะเนข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไกลจากที่เป็นอยู่อย่างสมเหตุสมผล มีลักษณะคล้ายกับการสร้างจินตนาการโดยใช้ข้อเท็จจริงเป็นหลักนั่นเอง การตั้งคำถามวัดความเข้าใจในแง่การขยายความอาจจะให้เรื่องราว เหตุการณ์ หรือข้อเท็จจริงทั้งไปให้ไกล ไปข้างหน้าและข้างหลังหรือเบื้องหลัง เช่น การคาดคะเน พยากรณ์แนวโน้ม ความคิด
การนำไปใช้ (Application)
การวัดการนำไปใช้ หมายถึง การวัดความสามารถในการนำความรู้ความเข้าใจ ที่มีในเรื่องราวข้อเท็จจริง วิธีการต่าง ๆ ไปใช้ในสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน หรือในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน การนำไปใช้จัดเป็นความสามารถชั้นสูงกว่าความจำ ความเข้าใจ โดยต้องสามารถที่จะนำความจำและความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสูตร กฎ ทฤษฎี หรือรายละเอียดทั่ว ๆ ไป ไปใช้แก้ปัญหาที่มีลักษณะผิดแผกแตกต่างจากที่เคยพบเคยเห็นมา คำถามที่ใช้ถามความสามารถในการนาไปใช้ เช่น การนำหลักวิชาไปแก้ปัญหา หรือไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ การนำความรู้ไปอธิบายหลักวิชา หรือยกตัวอย่าง การถามเหตุผลของการปฏิบัติ
การวิเคราะห์ (Analysis)
การวัดการวิเคราะห์ หมายถึง การวัดความสามารถในการแยกหารายละเอียด หาประเด็นของเรื่องราว เหตุการณ์การกระทำ ความคิด ความจริงต่าง ๆ เพื่อนำมาพิจารณา ไตร่ตรอง เปรียบเทียบ หาสาระหรือแก่นสาร หลักการ ความเกี่ยวโยง หรือหามูลเหตุ หรือต้นกำเนิดของสิ่งนั้น ๆ ลักษณะของการวิเคราะห์ก็คือการใช้วิจารณญาณเพื่อไตร่ตรองนั่นเอง คำถามประเภทนี้แบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ
๑.วิเคราะห์ความสำคัญ (Analysis of Elements) เป็นคำถามที่ต้องการให้เด็กค้นหาคุณลักษณะที่เด่นชัดของเรื่องราว ความคิด การกระทำหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น องค์ประกอบที่สำคัญ วัตถุประสงค์ สาระสำคัญ หัวใจของเรื่อง (main idea) สาเหตุ ต้นกำเนิด
๒. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Analysis of Relationships) เป็นคำถามเกี่ยวกับการค้นหาความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะต่างๆ ของเรื่อง ของเหตุการณ์ ว่าพาดพิง เกี่ยวโยงกันอย่างไร มากน้อยเพียงใด รวมทั้งผลที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น ความสอดคล้องสัมพันธ์ ความขัดแย้งกัน เหตุและผลที่ตามมา ( cause and effect )
๓. วิเคราะห์หลักการ (Analysis of Organizational Principles) เป็นคำถามวัดความสนใจการค้นหาเค้าเงื่อน หลักที่ยึดถือ เทคนิค ระเบียบวิธี โครงสร้าง ของเรื่องราว ความคิด คำพูดเช่น ถามโครงสร้าง ถามหลักหรือวิธีการที่ยึดถือ
การสังเคราะห์ (Synthesis)
การวัดการสังเคราะห์ หมายถึง การวัดความสามารถในการรวบรวม ผสมผสานสิ่งต่างๆ เช่น สิ่งของ ข้อเท็จจริง รายละเอียด ความคิด เพื่อนำมาผลิตหรือทาให้เป็นสิ่งใหม่ หรือเพื่อหาข้อสรุปเป็นข้อยุติ การวัดความสามารถในด้านสังเคราะห์ มีคำถามอยู่ ๓ แบบ คือ
๑. สังเคราะห์ข้อความ (Production of a unique communication) เป็นการวัดความสามารถในการแสดงการสื่อสารเพื่อเสนอความคิด เรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ โดยอาศัยความ ภาพ การพูด ลักษณะดังกล่าวก็คือการผลิตข้อความบทประพันธ์ การเขียนภาพ การพูด การวัดความสามารถดังกล่าว นิยมใช้ข้อสอบภาคปฏิบัติเป็นหลักหรือใช้ข้อสอบข้อเขียนแบบความเรียง ( essay type ) เพราะจะช่วยให้การวัดเที่ยงตรงกว่าแบบอื่นๆ
๒. สังเคราะห์แผนงาน (Production of a plan or operations) เป็นการวัดความสามารถในการผลิตโครงการ แผนปฏิบัติหรือการวางแผนกิจกรรมการงานต่างๆ ว่าจะต้องกระทeอย่างไร ต้องตระเตรียมสิ่งใด มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ต้องเตรียมแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น คำถามชนิดนี้จึงนิยมถามแบบเดียวกับการสังเคราะห์ข้อความ คือใช้วิธีให้เด็กเขียนโครงการต่างๆออกมา หรือใช้วิธีบรรยายถึงแผนการต่างๆ
๓. สังเคราะห์ความสัมพันธ์ (Derivation of Abstract Relations) เป็นคำถามที่วัดความสามารถในการเก็บรวบรวมรายละเอียดต่างๆ เพื่อนำมาเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ตรวจสอบ หาข้อยุติหรือลงสรุป โดยการเชื่อมโยงรายละเอียดเหล่านี้ ลักษณะดังกล่าวคือความสามารถในการริเริ่มสร้างสรรค์ เช่น นำรายละเอียดมาตั้งสมสุติฐานใหม่ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ หาข้อสรุปหรือข้อยุติที่เหมาะสม
การประเมินค่า (Evaluation)
การวัดการประเมินค่า หมายถึง การวัดการวินิจฉัย ตีราคา เรื่องราว ความคิด การกระทำ เหตุการณ์ต่างๆ โดยการสรุปเป็นคุณค่าว่า ดี-เลว เหมาะ อย่างมีหลักเกณฑ์ ดังนั้นคำถามที่วัดการประเมินค่าจึงเป็นคำถามที่ให้เด็กพิจารณาตัดสินสิ่งต่างๆ เช่น บทประพันธ์ ผลงาน ความคิดเห็น ตลอดจนเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆว่าเหมาะสมหรือดีเลวหรือไม่ เพราะเหตุใด โดยสามารถใช้คำถามได้ ๒ แบบ คือ
๑. อาศัยข้อเท็จจริงภายใน (judgments in terms of internal evidence) เป็นคำถามที่ให้ประเมินสิ่งต่างๆโดยใช้ข้อเท็จจริงรายละเอียด หลักการ หรือทฤษฎีต่างๆ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินพิจารณา นั่นคือบรรดาเกณฑ์ที่นำมาใช้ตัดสินหรือประเมินนั้น เป็นเรื่องราวหรือเป็นความจริงตามเนื้อหาและหลักวิชาที่ปรากฏอยู่จริง เช่น ความถูกต้องเหมาะสมของเรื่องราว ประสิทธิภาพของวิธีการ คุณค่าของผลงาน ความสมเหตุสมผลของเรื่อง วิธีการ ความคิด
๒. อาศัยเกณฑ์ภายนอก (judgments in terms of external criteria) เป็นคำถามที่ให้พิจารณาตัดสินสิ่งต่างๆ แต่เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาตัดสินนั้น เป็นเกณฑ์ที่ได้มาจากสิ่งอื่นๆนอกกับเหนือจากข้อเท็จจริงหรือหลักวิชา ส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ที่เกี่ยวกับแบบแผนทางสังคม ลัทธิการปกครอง ค่านิยมคุณธรรมต่างๆ ที่เป็นบรรทัดฐานของคนส่วนรวม เช่น ลักษณะโดยสรุปรวม การเปรียบเทียบความเหมาะสม ลักษณะเด่นและด้อย การตัดสินตามมาตรฐาน
ข้อแนะนำพื้นฐานของการออกข้อสอบปรนัย
๑. เนื้อหาข้อสอบ
๑.๑ ข้อสอบหนึ่งข้อควรมุ่งเน้นประเมินความรู้เพียงเรื่องเดียว
๑.๒ หลีกเลี่ยงการถามความรู้ในรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่มีที่ใช้ทางคลินิก (trivial content)
๑.๓ หลีกเลี่ยงการถามความรู้ในเรื่องที่ยังมีความขัดแย้งกันในแนวทางปฏิบัติ (controversy)
๑.๔ หลีกเลี่ยงการลอกประโยคหรือข้อความจากตำราโดยตรง
๑.๕ หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อสอบที่ประเมินความรู้ในเรื่องเดียวกันสองข้อในข้อสอบชุดเดียวกัน
๒. การจัดรูปแบบข้อสอบ
๒.๑ เลือกใช้คำศัพท์หรือรูปประโยคที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
๒.๒ หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของโจทย์ข้อนั้น
๒.๓ จัดให้มีการตรวจสอบเนื้อหา คำศัพท์ และรูปประโยคที่ใช้ในข้อสอบแต่ละข้อก่อนนำไปใช้
๓. การเขียนโจทย์
๓.๑ เขียนโจทย์ให้มีความชัดเจน ผู้สอบทุกคนอ่านแล้วมีความเข้าใจตรงกัน
๓.๒ เรียบเรียงเนื้อหาให้ใจความสำคัญของข้อสอบอยู่ในโจทย์
๓.๓ หลีกเลี่ยงการเขียนโจทย์ที่มีรูปประโยคเป็นเชิงปฏิเสธ
๔. การเขียนตัวเลือก
๔.๑ เขียนตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพให้มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เหมาะสมกับบริบท
๔.๒ จัดให้ตัวเลือกที่ถูกต้องมีการกระจายตำแหน่งไปให้มีจำนวนพอ ๆ กันในทุกตัวเลือก
๔.๓ เขียนตัวเลือกแต่ละข้อให้เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน
๔.๔ เขียนตัวเลือกให้ทุกตัวเลือกมีความเป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous)
๔.๕ เขียนตัวเลือกแต่ละข้อให้มีความยาวพอ ๆกัน
๔.๖ หลีกเลี่ยงการใช้ตัวเลือก “ถูกทุกข้อ” หรือ“ไม่มีข้อใดถูก”
สรุปจากการ ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาอาจารย์ด้านการจัดทำข้อสอบรวบยอดหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ ครั้งที่ ๒” วันที่ ๑๙-๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ ณ โรงแรมพักพิงอิงทาง บูติค โฮเทล จังหวัดนนทบุรี โดย นางสาวอรุณรัตน์ โยธินวัฒนบำรุง และนางชุติมา รักษ์บางแหลม (5644)