โรคเรื้อรังกับยาสูบ: บทบาทพยาบาล

โรคเรื้อรังกับยาสูบ: บทบาทพยาบาล

โรคเรื้อรังกับยาสูบ: นโยบายสู่การปฏิบัติ

          นโยบายเพื่อช่วยควบคุมการระบาดของยาสูบขององค์การอนามัยโลก มีชื่อว่า ยุทธศาศตร์เอ็มพาวเวอร์ (WHO’s  MPOWERM strategy) ประกอบด้วย

          1. การควบคุมติดตามการใช้ยาสูบและการป้องกัน   (Monitoring tobacco use and prevention)

          2. การปกป้องผู้คนจากควันบุหรี่ (Protecting people from tobacco smoke)

          3. การเสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อเลิกสูบบุหรี่ (Offering help to quit tobacco use)

          4. การเตือนผู้คนเกี่ยวกับอันตรายขอบงยาสูบ (Warning people about the dangers of tobacco)

          5. การบังคับใช้การห้ามโฆษณายาสูบ การโปรโมตและการอุปถัมภ์ (Enforcing bans on tobacco advertising promotion and sponsorship)

          6. การขึ้นภาษีบุหรี่ (Raising taxes on tobacco)

แผนยุทธศาสตร์ในการควบคุมยาสูบ จะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย และการร่วมมือกันทำงานกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

โรคเรื้อรัง: การจัดการกรณีศึกษายาสูบ

          โรคเรื้อรังเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจชาติโดยรวมประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี1 และยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ มีสาเหตุเชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงสี่อย่างหลักๆได้แก่ การบริโภคยาสูบ, การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอและพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม หากรัฐลงทุนในมาตรการที่จัดการกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ในระดับประชากรจะเป็นแนวทางที่มีความคุ้มค่าสูง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากโรคเรื้อรังและคืนมูลค่าทางเศรษฐกิจของรัฐได้อย่างมหาศาล

          ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังได้แก่ การบริโภคแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้สูญเสียปีสุขภาวะสูงสุดในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 15.7 และ 1.7 ในเพศชายและหญิง รองลงมาคือการบริโภคบุหรี่/ยาสูบ คิดเป็นร้อยละ 11.3 และ 2.2 ภาวะความดันโลหิตสูง คิดเป็นร้อยละ 6.2 และ 6.0 ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและวิถีชีวิต เช่น การบริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 2.5 และ 2.2 ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานคิดเป็นร้อยละ 3.0 และ 7.7 ของความสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด2

ผลลัพธ์ของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเหล่านี้มักต้องการการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลหรือการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญผู้ป่วยจะต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมาน ไม่สุขสบาย โรคเรื้อรังจึงเป็นโรคที่มีขนาดภาระโรคสูงเพิ่มค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัฐอย่างมหาศาล

1. ภาระโรคจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังก่อให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพถึงร้อยละ 74 และคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึงสองแสนล้านบาทต่อปี รัฐบาลจึงควรมีการลงทุนในมาตรการที่คุ้มค่าสูงเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ เหล้า อาหาร และ ภาวะน้ำหนักเกินซึ่งกลุ่มเป้าหมายของปัจจัยเสี่ยงมีความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิง

2. รัฐบาลควรใช้กรอบมาตรการที่มีความคุ้มค่าสูง มีประสิทธิผล และสามารถปฏิบัติได้

ในการดำเนินการ ดังนี้

ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขนาดของภาพและข้อความคำเตือนบนซองบุหรี่

-   ห้ามการโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาสูบ/บุหรี่

ออกประกาศกรมสรรพสามิต กำหนดอัตราภาษีตามสภาพของยาสูบทุกประเภท โดยมี

-   เป้าหมายเพื่อกำหนดราคาขั้นต่ำที่ไม่จูงใจนักสูบหน้าใหม่

-  ปรับเปลี่ยนวิธีบังคับใช้กฎหมายให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากจะตักเตือนได้แล้วยังลงโทษปรับได้ด้วย ซึ่งต้องแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535

เน้นการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในจุดขายที่ดึงดูดใจเยาวชน เช่น รอบบริเวณสถานศึกษา หอพัก ค่ายเยาวชน ในการแสดงดนตรี การแข่งขันกีฬา ช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูง

-   ส่งเสริมให้สื่อมวลชนปลอดจากโฆษณาแฝงในรูปแบบต่างๆ ไม่นำเสนอข้อมูลให้เกิดการรับรู้ว่าการดื่มสุราเป็นเรื่องปกติ และถูกต้อง

-   ปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก 1 ปี เพื่อให้อัตราภาษีสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การบริโภค

-   สนับสนุนและส่งเสริมให้สื่อมวลชนรณรงค์สาธารณะและสร้างกระแสการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

-  ลดปริมาณเกลือ และไขมันอิ่มตัวสูงในอาหาร

3. ภาครัฐควรสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่ ให้ร่วม

ผลักดันให้มีมาตรการเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มภาระทางสุขภาพต่อประเทศ

4. กระทรวงสาธารณสุขควรส่งเสริมระบบข้อมูลการเฝ้าระวัง เพื่อการประเมินและติด

ตามผลของมาตรการหรือนโยบายที่มีการดำเนินการ

โรคเรื้อรังบทบาทพยาบาลกับการควบคุมโรคเรือรังจากยาสูบ

          จุดยืนของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ

สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯยึดมั่นในนโยบายและสนับสนุนการดำเนินงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ทำงาน และที่สาธารณะอื่นๆให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย
  • ป้องกันผู้สูบบุหรี่รายใหม่ ช่วยให้เลิกบุหรี่และคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่
  • พัฒนาเครือข่ายการทำงานกับวิชาชีพสุขภาพอื่นๆและภาคีทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศในการควบคุมยาสูบ
  • ผลักดันให้เกิดการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 รวมถึง อนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง

สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯสนับสนุนให้สมาชิก และสมาคม/ชมรมพยาบาลที่เป็นสมาชิกของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯให้ความสำคัญกับการควบคุมยาสูบ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะด้านการควบคุมยาสูบ โดย

  • สนับสนุนให้ที่ทำการของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ สมาคมพยาบาลและชมรมพยาบาลที่เป็นสมาชิกของสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่
  • พัฒนาให้เกิดสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในสถานบริการสุขภาพทุกระดับและในชุมชนเพื่อความปลอดภัยจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง
  • สนับสนุนให้พยาบาลเป็นต้นแบบของการไม่สูบบุหรี่
  • มีการป้องกันและการช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ในพยาบาลและนักศึกษาพยาบาล
  • ผลักดันให้เกิดการบูรณาการเนื้อหาด้านการควบคุมยาสูบในหลักสูตรการศึกษาพยาบาลทุกระดับ
  • ส่งเสริมให้มีการควบคุมยาสูบในการปฏิบัติงานประจำของพยาบาลทั้งในด้านของการป้องกันการสูบบุหรี่ การช่วยให้เลิกบุหรี่ และการป้องกันการสัมผัสควันบุหรี่มือสอง
  • พัฒนาศักยภาพพยาบาลในการช่วยผู้สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่และการควบคุมยาสูบ รวมทั้งสนับสนุนให้พยาบาลมีการพัฒนาศักยภาพตนเองให้มีความทันสมัย
  • บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบ ในการจัดประชุมต่างๆด้านการพยาบาล
  • จัดกิจกรรมในการให้ความรู้/รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน
  • จัดกิจกรรมรณรงค์การควบคุมยาสูบใน “วันงดสูบบุหรี่โลก” (World No Tobacco Day) วันพยาบาลสากล วันพยาบาลแห่งชาติ และในทุกๆโอกาสอย่างต่อเนื่อง
  • สนับสนุนนโยบายในการห้ามโฆษณาและไม่รับการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่
  • ทำงานร่วมภาครัฐในการผลักดันกฎหมายและมาตรการทางภาษีเพื่อการควบคุมยาสูบ

การขับเคลื่อนนโยบาย พระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ

ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เพื่อเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากประชาชนชาวไทยทุกคน

1. ข้อเท็จจริง

• กฎหมายบุหรี่ (พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่)  ได้มีการบังคับใช้มากว่ายี่สิบปีแล้ว ในขณะที่บริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาดใหม่ ๆ  รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด  ทำให้มีผู้เสพติดบุหรี่รายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

• ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมยาสูบให้สอดคล้องกับ อนุสัญญาควบคุมยาสูบ  ขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 179 รัฐภาคี ที่ต้องควบคุมการทำการตลาดของบริษัทบุหรี่

• จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2556  ลดลงจากปี พ.ศ.2534  เพียงเล็กน้อย  แต่แนวโน้มอัตราการสูบกลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี จากสถิติพบว่าเยาวชนไทย 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะติดไปตลอดชีวิต และใน 3 คนที่เหลือ  ต้องสูบบุหรี่เฉลี่ย 20 ปีก่อนที่จะเลิกได้

2. ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ 

• แก้ไขคำนิยามให้ทันกับกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่

- คำว่า “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ”  ให้หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ ๆ อาทิ  บุหรี่ไฟฟ้า  บารากู่

- คำว่า “การโฆษณา”  ให้ครอบคลุมการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การใช้สื่อบุคคล “พริตตี้”

• เพิ่มมาตรการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชน

- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 18 ปี)

- ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ปัจจุบันมีนโยบายห้าม แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ)

- ห้ามขายบุหรี่ซิกาแรตที่บรรจุซองน้อยกว่ายี่สิบมวน

- ห้ามแบ่งขายบุหรี่ซิกาแรตเป็นมวน ๆ (ปัจจุบันห้ามอยู่แล้ว แต่กฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจน)

• เพิ่มข้อห้ามการโฆษณาทางอ้อม

- ห้ามการสื่อสารการตลาดในสื่อต่าง ๆ รวมถึงการใช้สื่อบุคคล (พริตตี้)

- ห้ามเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ “กิจกรรมเพื่อสังคม” (CSR) ของบริษัทบุหรี่ ในทุกสื่อ (ปัจจุบันห้ามเพียงสื่อวิทยุและโทรทัศน์)

• เพิ่มมาตรการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก

- ห้ามส่วนราชการรับการอุปถัมภ์จากธุรกิจยาสูบ (ปัจจุบันห้ามโดยมติ ครม.)

- กำหนดลักษณะของจุดขายปลีกยาสูบ

- กำหนดให้บริษัทบุหรี่ต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ

- กำหนดแนวทางและขั้นตอนการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทบุหรี่ ในกรณีที่มีความจำเป็น

• เพิ่มมาตรการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่

- กำหนดให้ผู้ดำเนินการ (เจ้าของสถานที่สาธารณะ) มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่

- ปรับปรุงขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายเขตปลอดบุหรี่

• ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการควบคุมยาสูบในทุกระดับ

- กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับประเทศ  และคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด รวมทั้งให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมยาสูบ

ทั้งนี้ เนื่องจากงานควบคุมยาสูบของประเทศไทย ยังขาดโครงสร้างองค์กรรัฐที่จะสนับสนุนการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด  ทั้ง ๆ ที่มีคนไทยที่สูบบุหรี่กว่าร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัดในร่างกฎหมายที่ แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนการควบคุมยาสูบในระดับ จังหวัด

3. ผลดีของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่

• มาตรการต่าง ๆ ที่ปรับปรุงจะมีผลทำให้

- จำนวนเยาวชนรายใหม่ที่เสพติดบุหรี่ลดลง

- จำนวนผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น

- รัฐบาลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากขึ้น

• ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ ได้และไม่ขัดต่อกฎระเบียบต่าง ๆ ขององค์การการค้าโลก

• ตลาดบุหรี่ซิกาแรตจะไม่สามารถขยายตัวได้ หรือมีขนาดค่อย ๆ เล็กลง ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบจะขยายตลาดได้ยากขึ้น

พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เน้นควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ ไม่ให้สร้างการตลาดเพื่อดึงดูดให้เยาวชนสนใจยาสูบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ การพัฒนารสชาติใหม่ ๆ การออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ การลดราคาด้วยการขายแยกซอง และ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม  การส่งเสริมการขายที่ร้านค้าปลีก เช่น การโฆษณาที่จุดขาย  ห้ามการตลาดด้วยสื่อต่าง รวมทั้งการใช้สื่อบุคคลเช่น พริตตี้ และการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ โดยไม่มีมาตราใดบังคับเกี่ยวกับการปลูกยาสูบหรือการขายใบยาสูบ

หาก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะส่งผลต่อการลดอุปสงค์ยาสูบของเยาวชนและป้องกันรายใหม่ปีละไม่ต่ำ กว่า1 แสนคน ซึ่งจะลดความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ได้เฉลี่ย 15,800 ล้านบาทต่อปี และแทบจะไม่กระทบรายได้ภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง ที่ควรจะปรับอัตราตาค่าเงินเฟ้อทุกปี ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีบุหรี่ได้ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นสัดส่วนรายได้ภาษีจากบุหรี่นอกร้อยละ38 มาจากบุหรี่ภายในประเทศร้อยละ 62

ส่วนชาวไร่ผู้ปลูกใบยาสูบมีช่องทางการขายใบยาสูบหลายช่องทาง ตั้งแต่การขายให้โรงงานยาสูบมูลค่ากว่า 1,ุ600 ล้านบาทและการส่งออกมูลค่ากว่า 2,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ประกอบการยาเส้นภายในประเทศ ดังนั้น ชาวไร่จะได้รับผลกระทบจากการลดอุปสงค์ภายในประเทศไม่มาก และมีระยะเวลาในการปรับตัวไปปลูกพืชอื่นๆที่มีผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าร่วม ด้วย

            มาตรการที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ล้วนเป็นมาตรการสากลที่กำหนดอยู่ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ที่ประเทศไทยรวมทั้ง 178 ประเทศ เป็นรัฐภาคีและเป็นมาตรการที่ประเทศต่างๆ เขาทำกันอยู่แล้ว เพื่อคุ้มครองเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่กำลังมีการขับเคลื่อนกฏหมายฉบับนี้ออกมา ก็ได้รับแรงต้านจากบริษัทบุหรี่ และนอมินีของบริษัทบุหรี่ ในนามของชมรมและสมาคมต่างๆ  เราจึงอยากวิงวอนชาวไทยให้ร่วมกันลงชื่อสนับสนุน พรบ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่นี้ให้ประกาศใช้โดยเร็วที่สุด


สรุปจากการประชุม  โรคเรื้อรังกับยาสูบ: บทบาทพยาบาล จัดโดยเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย 7-8 พฤษภาคม 2558 ณ โรงแรงมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดย นางสาวปิยะพร พรหมแก้ว

(736)

Comments are closed.