หลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการใหม่ “หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี”

หลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการใหม่ “หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี”

การอบรมหลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการใหม่ “หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี” ประกอบด้วย
การเข้าค่าย ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดนครนายก
การบรรยาย/อภิปราย ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี
การศึกษาดูงาน

การเข้าค่าย ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดนครนายก

1)   กิจกรรมละลายพฤติกรรมโดยให้ทำความรู้จักกันโดยให้จับกลุ่มตั้งแต่ 2 คน 4 คน 8 คน แยกตามวันที่เกิด แยกตามเดือนที่เกิด แยกตามเพศ แล้วแบ่งเป็น 10 กลุ่ม เพื่อให้รู้จักเพื่อนๆ ในกลุ่ม และมีการเลือกหัวหน้ากลุ่มและรองหัวหน้ากลุ่ม เพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานซึ่งอาจจะต้องพึ่งพาอาศัยกันในอนาคต จากนั้นมีการเลือกประธานรุ่น และรองประธานรุ่น สธ. 2/58 โดยประธานเลือกจากผู้ชาย 5 คน และรองประธานเลือกจากผู้หญิง 5 คน และแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการรุ่นรวมทั้งสิ้นจำนวน 30 คน สามารถนำไปใช้ในการสร้างเครือข่ายกับเพื่อนในองค์กร การทำงานเป็นทีม การมีจิตบริการที่ดี และการตรงต่อเวลา

2)  การทำงานเป็นทีม ประกอบด้วย
2.1  การกำหนดกติกาในการปฏิบัติตัวร่วมกัน เช่น กิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าฐาน เป็นต้น
2.2  การมีส่วนร่วมกันปฏิบัติตามบทบาทและภารกิจที่กำหนด เช่น ฐานกู้ระเบิด ฐานบุเรงนอง ฐานปาเป้า ฐานตาข่ายเทวรูปฐานข้ามลำน้ำเป็นต้น
2.3  การปรับปรุงการทำงานอยู่เสมอ  โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เช่น ฐานเหินเวหาฐานกู้ระเบิด ฐานเคลื่อนย้ายคลังอาวุธ ฐานเคลื่อนบ้ายสป. 3 ฐานต้องรอด เป็นต้น

การบรรยาย/อภิปราย ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี

 ได้เรียนรู้ในประเด็นดังต่อไปนี้

1) การเสริมสร้างทักษะในการคิด และควบคุมตนเอง

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคิดและการระดมความคิดต้องอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง การคิดร่วมกันต้องมีการเปิดใจ มีการใช้ทักษะการสื่อสารที่เหมาะสม เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดและแสดงออกความคิดเห็น ซึ่งในการระดมความคิดนั้นต้องมีการจัดแบ่งหน้าที่ และในการระดมความคิดทางกลุ่มต้องมีการสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการระดมความคิดด้วย

นอกจากนี้การคิดบนสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ บุคคลต้องมีความคิดกว้าง คิดไกล มีระบบ มีเครือข่าย มีข้อมูลประกอบการคิดทันสมัยตรงประเด็น แหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ คำนึงถึงความเร่งด่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

สุดท้ายนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงาน คือ การประเมินผลงาน โดยประเมินจาก ทักษะ ศักยภาพ ประสิทธิภาพในการทำงาน โดยดูจากความรู้ วิธีการ และระยะเวลาในการำงานประกอบ ผู้ปฏิบัติงานควรมีการสะสมผลงานของตน เกิดเป็นเครื่องมือพัฒนาตนเองโดยการใช้แฟ้มสะสมผลงาน เพื่อการพัฒนาสิ่งที่ตนเองยังขาดอย่างต่อเนื่องซึ่งสามารถนำไปใช้ในการระดมความคิดในการปฏิบัติงานในอนาคต ทั้งกับเพื่อนร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาการทำแฟ้มสะสมงานไปใช้ในการปฏิบัติงานราชการในอนาคตต่อไป เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นความก้าวหน้าของงานและช่วยให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) การเป็นข้าราชการที่ดี

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นข้าราชการที่ดีนั้น ต้องมีการทำความเข้าใจ เข้าถึง และรู้จักการพัฒนา มีการเสริมสร้างตนเองให้มีความสุข เพื่อที่จะสามารถให้บริการผู้ที่มารับบริการของทางราชการได้ ข้าราชการ ต้องมีความรู้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต รู้ว่าควรจะทำอะไร ทำแล้วมีความสุขหรือไม่ ข้าราชการจึงต้องมีความเข้าใจชีวิตมีการนำธรรมะมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตรู้ว่าตนเองควรทำดี แนะนำคนอื่นให้ทำดี ยินดีพอใจในการทำ ทำดี เพื่อเพื่อดี Doing good for good และต้องทำงานอย่างเต็มความสามารถ มีความระมัดระวัง มีความปรารถนาดีต่อผู้รับบริการ และการน้อมนำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานมุ่งปฏิบัติงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ

3) การเสริมสร้างวินัยและกฎระเบียบที่สำคัญสำหรับข้าราชการใหม่

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการต้องยึดถือตามหลักกฎหมายและวินัยข้าราชการอย่างเคร่งครัด ให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการที่ดีการประกอบวิชาชีพข้าราชการต้องมีความรู้ในวิชาชีพ มีประสบการณ์ มีคุณธรรมจริยธรรม และต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะข้าราชการคือผู้ที่มีบทบาทหน้าที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งจะต้องรู้กฎหมาย ระเบียบแบบแผน ข้อบังคับที่อยู่ในหน้าที่ของตนเองให้ได้

นอกจากนี้วินัยและการรักษาวินัยข้าราชการ ยังถือเป็นเครื่องกำหนดให้ข้าราชการพึงควบคุมตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชาให้ประพฤติปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งหากราชการทำผิดก็จะมีบทลงโทษทางวินัย 5 สถาน ประกอบด้วย ไม่ร้ายแรง (ภาคทัณฑ์, ตัดเงินเดือน, ลดเงินเดือน) และโทษร้ายแรง (ปลดออก, ไล่ออก)

4) มนุษยสัมพันธ์กับการทำงานเป็นทีม

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เป็นการติดต่อระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีและการร่วมมือกัน โดยยึดแนวคิดการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีคือ รู้จักตนเอง เข้าใจคนอื่น        และรู้จักธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อดึงความสามารถของทุกคนมารวมกัน ช่วยเหลือกัน รับฟังความคิดเห็นของกัน ร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง

เทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์ คือต้องชนะใจผู้อื่น โดยมีลักษณะคือยิ้มแย้ม ทักทายปราศรัย สนใจเพื่อน รับฟัง เคารพความความคิด ยอมรับยกย่อง จริงใจ ชื่นชมยินดี ให้กำลังใจ ให้เกียรติ ให้อภัย

5) การพัฒนาจิตเพื่อสร้างคุณธรรมจริยธรรมและจิตสำนึกข้าราชการ

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการมีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึก คือ การทำทุกอย่างด้วยความถูกต้องเหมาะสม ไม่เห็นแก่ตัว โดยการวางความสุขไว้ที่การทำประโยชน์เพื่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคม ด้วยการใช้พื้นฐานของการเกิดปัญญา คือ สมาธิ – สติ ซึ่งพื้นฐานสำคัญของสมาธิ คือ ศีล และวินัย

การรู้จักและเข้าใจตนเองว่า มนุษย์เกิดมาเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ให้ดีขึ้น ด้วย สติ ปัญญา ศรัทธา กุศลกรรม สายกลาง และการคิดเชิงบวกมนุษย์เกิดมาเพื่อการรู้จักตนเอง การพัฒนาตนเอง การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี การเสพสุขอย่างรู้เท่าทัน เพื่อโอกาสที่จะได้แบ่งความโชคดี ให้ผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่า และเชื่อว่าการมีความสุขในชีวิตนั้น ต้องมีโดยทีไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ถูกต้อง ดีงาม เหมาะสม และถูกทำนองคลองธรรม มนุษย์สามารถแบ่งความสุขให้คนอื่นมีความสุขร่วมได้ ด้วยการให้รอยยิ้ม ให้เกียรติ ให้อภัย

6) การพัฒนาบุคลิกภาพในงานราชการ และจิตบริการในการทำงานภาครัฐ

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการยืดหยุ่นในการทำงาน อย่าพูดทุกอย่างที่คิด แต่จงคิดทุกอย่างก่อนพูด การปรับปรุงบุคลิกภาพ จะสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ได้แต่ภายนอก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วคือ “ความจริงใจ”  ในทุกสังคม และการสร้างบุคลิกภาพให้มีความน่าเชื่อถือซึ่งบุคลิกภาพเป็นลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล แสดงออกท่าทางความรู้สึกนึกคิด ความเฉลียวฉลาดตลอดกิริยามารยาท ลักษณะนิสัย และอุปนิสัย

บุคคลที่ต้องการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพภายนอกให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ที่พบเห็น มีหลักการดังนี้
6.1   สะอาด
6.2   รสนิยม โดยต้องสอดคล้องกับองค์ประกอบเหล่านี้
6.2.1  กาลเทศะ เช่น ถ้าอยู่ในเครื่องแบบต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามระเบียบ หากเป็นชุดไพรเวทต้องเหมาะสมกับเวลาและสถานที่
6.2.2         เหมาะสมกับวัย ทันสมัย
6.2.3         เหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพที่ดำรงอยู่
6.3  เรียบร้อย
6.4  ประณีต

7) ทิศทางการบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่ สวัสดิการและค่าตอบแทน

ได้เรียนรู้เกี่ยวกับลำดับการบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุขและดำเนินการได้ถูกต้องตามสายบังคับบัญชาขอบเขตสิทธิที่ข้าราชการพึงมีในเรื่องอัตราเงินเดือน การปรับขั้นของข้าราชการสิทธิประโยชน์และแหล่งค้นคว้าข้อมูลเมื่อมีคำถามและข้อสงสัยเรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทน

 การศึกษาดูงาน

ได้มีกิจกรรมการศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ ดังนี้

1) หอจดหมายแสดงเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เป็นสถานที่จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ นิทรรศการประกอบด้วย เอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่าย สื่อโสตทัศนศึกษา รวมทั้งจำลองบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริงจัดแสดงในอาคารจัดนิทรรศการ 2 อาคาร คือ อาคาร 3 และอาคาร 4 มีพื้นที่จัดแสดง 9,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอุทิศตนเพื่อทำหน้าที่ข้าราชการที่ดี ในการให้บริการอย่างทุ่มเท ในการทำงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถ เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้แก่ประชาชน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดมุ่งประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนี้ยังสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตของการเป็นข้าราชการ โดยใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ ไม่ฟุ้งเฟ้อ พอเพียง และรู้จักเหลือเก็บออม และการมีความสามัคคีไม่ทอดทิ้งกันสามารถนำหลักในการทำงานของพระองค์ท่าน  มาปรับใช้ในการทำงานที่มุ่งเน้นการคิดอย่างเป็นระบบ

2) หออัครศิลปิน

หออัครศิลปิน เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็น “อัครศิลปิน” และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” และจัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ ได้แก่สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม สาขาศิลปะการแสดง สาขาวรรณศิลป์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำงานของข้าราชการทำงาน โดยการอย่าให้ความสำคัญกับเงินทองมากเกินไป ข้าราชการต้องมองเห็นความงามของธรรมชาติและงานศิลปะ ซึ่งมีคุณค่าเกินกว่าจะประเมินค่าได้และในการปฏิบัติงานราชการที่มีความตึงเครียด ผู้ปฏิบัติงานควรรู้จักใช้ศิลปะในการผ่อนคลายจิตใจเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานผ่านไปได้

3) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวร.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ทำให้ได้ทราบถึงหลักการทำงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใช้หลักการ และเหตุผล การทำงานเป็นขั้นตอนมาใช้แก้ปัญหา รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังสามารถนำวิทยาศาสตร์มาปรับใช้กับการเกษตร เพื่อให้ดำรงชีวิตได้ยั่งยืน รวมถึงเรียนรู้การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา นำมาปรับใช้ในการทำงานของตัวเองได้มากขึ้น

4) พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และแสดงอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ทำให้ตระหนักถึงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติงานคือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง และมีการนำคุณธรรม ความรู้ ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด

5) ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ นครนายก

เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนและองค์กรต่างๆได้เข้ามาศึกษาถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแบ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ 4 ภาค ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์ สมุนไพรต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในครัวเรือน รวมทั้งการเสริมสร้างอาชีพแก่ประชาชน การนำหลัก 4 พอ ไปใช้ในการดำเนินชีวิต อันได้แก่ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น หากสามารถมีครบทั้ง 4 พอ และชีวิตในการเป็นข้าราชการก็จะเป็นสุขและร่มเย็น และหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เปรียบเสมือนชีวิตของเราทุกคน ที่ต้องรู้จักยืดหยุ่นให้เป็น

จากการเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการใหม่ “หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี”ทั้งในส่วนของกิจกรรมการเข้าค่าย ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดนครนายก กิจกรรมการบรรยาย/อภิปราย ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จังหวัดปทุมธานี และกิจกรรมการศึกษาดูงานก่อให้เกิดสมรรถนะในการเป็นข้าราชการที่ประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม การทำงานเป็นทีม มีการพัฒนาเครือข่ายในการทำงาน เกิดสายสัมพันธ์ที่ดีจากประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานราชการ ด้วยการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มีความสามัคคี แม้จะต้องผ่านงานที่มีความยากลำบาก แต่ผู้เข้ารับการอบรมก็พยายามปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก มีสติในการปฏิบัติให้ผ่านไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางการเป็นข้าราชการที่ดีตามรอยพระยุคลบาท ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสู่การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ หรือการดำเนินชีวิตต่อไปได้

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการจัดอบรมในครั้งต่อไป ดังต่อไปนี้

  1. ควรเพิ่มระยะเวลาของกิจกรรมเข้าค่าย ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้ข้าราชการใหม่ได้มีช่วงเวลาในการทำงานร่วมกัน ได้ทำความรู้จักและเกิดการปรับตัวใช้ชีวิตกับผู้อื่น
  2. เนื้อหาวิชาที่จัดการอบรม มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ที่จะสามารถนำกลับไปสู่ การปฏิบัติงานของตนเองต่อไปแต่ในบางหัวข้อพบว่าเนื้อหาค่อนข้างเยอะทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ครบถ้วน
  3. การศึกษาดูงาน ควรเป็นการแยก 1 กลุ่มต่อ 1 สถานที่ศึกษาดูงานเพื่อที่จะได้มีเวลาในการศึกษาข้อมูล เพื่อนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มมากขึ้น

สรุปจาการ การอบรมหลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการใหม่ “หลักสูตรการเป็นข้าราชการที่ดี”   16 – 26 มีนาคม 2558 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก และโรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี โดย ปิยะพร พรหมแก้ว ดาลิมา สำแดงสาร เบญจวรรณ ละหุการ จิรกานต์ พันธ์ฤทธิ์ดำ จิฑาภรณ์ ยกอิ่น

(1063)

Comments are closed.