แบบฟอร์มสำหรับส่งบทความเข้าคลังความรู้
วันที่บันทึก : 21 มีนาคม 2557
ผู้บันทึก : นางสาวจามจุรี แซ่หลู่
กลุ่มงาน : กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุและบริหารการพยาบาล
ฝ่าย : ฝ่ายวิชาการ
ประเภทการปฏิบัติงาน: อบรม
วันที่ 19 – 20 มีนาคม 2557
หน่วยงาน/สถาบันที่จัด : แก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนนก กระทรวงสาธารณสุข
สถานที่จัด : ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ หน่วยงานที่จัด ระหว่างวันที่
เรื่อง : จิตบริการสู่องค์กรแห่งความสุข
รายละเอียด
จิตบริการสู่องค์กรแห่งความสุข
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดจิตบริการ ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัย คือ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การปลูกฝังอบรม ประสบการณ์ทำให้ฉุกคิด
พื้นฐานของจิตบริการเริ่มจาก การไม่ละเมิดผู้อื่น การไม่ละเลยหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ต่างยึดทางสายกลาง (มรรคมีองค์ ๘) ซึ่งสรุปเป็นหลักการสั้นๆ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา) เป็นการละชั่ว ทำดี ทำจิตให้บริสุทธิ์เบิกบาน ทำให้เข้าถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของทุกสรรพสิ่งในโลก ส่งผลให้ความโลภ ความโกรธ และความหลงลดลง
การพัฒนาจิตบริการ ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ก่อน โดยการฝึกอบรม เน้นในเรื่องของนโยบาย วิธีการที่จะพัฒนา การเลือกวิทยากร การจัดกระบวนการฝึกอบรม ซึ่งวิธีการที่ผ่านมามักจะทำไปตามกระแส แต่ขาดความยั่งยืนในการกระทำ ซึ่งการดำรงความยั่งยืนของจิตบริการ สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนคือ “ปัญญา”
ลักษณะที่สำคัญที่บ่งบอกว่าเป็นองค์กรแห่งความสุข มีความรักสามัคคี มีความยุติธรรม มีขวัญ กำลังใจ มีสวัสดิการ และความมั่นคง และมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วยความเต็มใจ
การพัฒนาให้เกิดองค์กรแห่งความสุข ผู้นำจะเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญมากที่จะเสริมให้
เกิดความรัก ความสามัคคี ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส โดยหลักการที่สำคัญต้องเน้นการปลูกฝังวินัย พรหมวิหารธรรม และการที่จะสามารถดำรงความยั่งยืนขององค์กรแห่งความสุข คือ ปัญญา ซึ่งพื้นฐานที่ส่งผลให้เกิดปัญญา คือสมาธิ และสติ ส่วนพื้นฐานสำคัญของการทำให้เกิดสมาธิคือ ศีล วินัย
ความเครียดทำให้จิตบริการไม่งอกงาม การละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้เบิกบาน จิตจะเบิกบานได้ คือจิตที่เต็มไปด้วยปัญญา ซึ่งปัญญาที่สำคัญคือการเข้าใจในกฎของไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ทุกๆ สิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อทนสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ก็จะเกิดความทุกข์ ถ้าเรามีการยึดติด ในตัวกูของกู เมื่อไม่ได้เป็นตัวกูของกู ก็จะทำให้ความทุกข์
ดังนั้นความเครียดที่เกิดขึ้นของคน คือ การไม่เข้าใจในกฎธรรมชาติ ไม่เข้าใจกฎของไตรลักษณ์ ไม่เข้าใจความไม่เที่ยง ยังมีการยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจในกฎธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ เราก็สามารถละวางความทุกข์ต่างๆ ได้ ชีวิตก็จะมีความสุข นั้นคือจิตที่มีปัญญา ซึ่งนำไปสู่ความสุขได้
การลดความเครียด คนที่มีบุคลิกดีและรู้จักการคิดเชิงบวกจะมีโอกาสที่จะถูกกระทบในเชิงลบจากสังคมลดลง เลิกคิดว่าโลกนี้หรือสังคมนี้ไม่ยุติธรรม เพราะความจริงโลกมีความยุติธรรมแต่เราต้องเลิกละเมิดผู้อื่น เลิกเข้าข้างตนเอง แล้วเราจะพบกับความยุติธรรม
การพัฒนาตนต้องเริ่มที่การพัฒนาตนเองก่อน ผู้มีปัญหาด้านบุคลิกภาพและความฉลาดทางอารมณ์มักไม่ค่อยกล่าวประโยคเหล่านี้คือ ขอโทษ สวัสดี ขอบคุณ ซึ่งจริงๆ แล้วการกล่าวคำเหล่านี้จะช่วยให้เราเกิดการพัฒนาตนเองได้ เพื่อให้เกิดความงอกงามของจิตใจ
มนุษย์สามารถหากำไรให้กับชีวิตได้ โดยการลงทุนชีวิตอย่างรู้เท่า และเตรียมทุนสำรองอย่างรู้ทันด้วย สติ ปัญญา ศรัทธา กุศลกรรม สายกลาง
ปัญญาที่ยิ่งใหญ่คือ การรู้จักตนเอง ทำไมต้องเน้นเรื่องปัญญา เนื่องจากคนยังจมอยู่ในกองทุกข์ ยังอยู่ในความโง่ ยังอยู่ในความไม่รู้ ยังมีปัญหา ถ้ามนุษย์ฉลาด มนุษย์ตระหนักชัดว่า การเกิดเป็นทุกข์ การแก่ชราเป็นทุกข์ การเจ็บป่วยเป็นทุกข์ และการตาย การพลัดพรากเป็นทุกข์
สิ่งที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์ไม่อยากให้เกิดคือ ความขัดแย้งกับผู้รับบริการ ซึ่งจริงๆ แล้วความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ยากมากถ้า เราพูดกับผู้รับบริการด้วยน้ำเสียงและคำพูดที่ไพเราะ ให้เกียรติกับผู้รับบริการ พูดจามีหางเสียง การให้ข้อมูลทุกครั้งเมื่อต้องการจะทำอะไรกับผู้รับบริการ เช่น เมื่อไปฉีดยา เมื่อไปตรวจร่างกาย เมื่อไปทำแผล ไม่ให้ข้อมูลแบบขู่ผู้รับบริการ ควรจะให้ข้อมูลที่เป็นเชิงบวก แต่ให้ข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อให้เขาได้ตัดสินใจ ไม่ให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้รับบริการเกิดความกลัวหรือเกิดความระแวง ฉะนั้นต้องให้ข้อมูลอย่างจริงใจ และให้บริการดุจญาติมิตร
สิ่งที่ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์มีความทุกข์ คือ การวินิจฉัยผิดพลาด ในความเป็นจริงต้องพิจารณาสาเหตุที่ทำให้คนเราจากโลกนี้ไป คือ หมดอายุขัย หมดกรรม หมดทั้งกรรมและอายุขัย มีวิบากกรมมาตัดรอน (เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ โดยการพยายามศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่ปฏิบัติ) อีกกรณีหนึ่งที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ เกิดทุกข์คือ งานหนัก ทะเลาะกับผู้ป่วยและญาติ ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน ทะเลาะกับหน่วยงานข้างเคียง กับหัวหน้า แต่ที่สำคัญคือ การทะเลาะกับตัวเอง ดังนั้นวิธีที่จะไม่ให้เกิดการทะเลาะคือ การพูดด้วยวาจาที่ไพเราะ ความฉับไวในการให้บริการ วางตัวเหมาะสม การตรวจร่างกายอย่างละเอียด การให้ข้อมูลและคำแนะนำ การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี การมีบรรยากาศในการปฏิบัติงานร่วมกัน และอย่างกินแรงกัน
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์มีความสุข คือ มีความรู้อย่างเพียงพอ มีความต้องการอย่างเพียงพอ มีความประพฤติดี มีบุคลิกภาพที่ดี มีปัญญา ต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง ต้องมีกุศลกรรม ต้องพัฒนาปัญญาให้ได้
พื้นฐานที่สำคัญของการคิดเชิงบวกคือ ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ ถูกสร้างให้มีมากกว่า ๑ ด้านในตัวของมัน ผู้ที่มีปัญญาและถึงพร้อมกุศลกรรม จะสามารถดึงเอาด้านดีของทุกสรรพสิ่งมาใช้ และเขี่ยด้านที่ไม่ดีออกไปหรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในแง่อื่น เข้าทำนองเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสหรือเปลี่ยนอุจจาระให้เป็นปุ๋ยได้ เราสามารถต่อสู้ทุกปัญหาในโลกนี้ได้ โดยมีปัญญาเป็นอาวุธ มีกุศลกรรมเป็นเกราะ และมีเงินเป็นเครื่องทุ่นแรง ดังนั้นผู้ที่มีปัญญา จะไม่แขวนความสุขไว้กับการได้ลาภ การได้ยศ ได้ตำแหน่ง และได้รับการสรรเสริญ แต่จะแขวนความสุขไว้กับโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม และเหมาะสม
หลักการคิดเชิงบวก ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ ให้ตั้งสติไว้ก่อน อะไรที่เกิดขึ้นแล้วในทางลบอย่าซ้ำเติมกัน มองสิ่งที่เกิดขึ้นในทางลบว่า ยังดีที่เป็นแค่นี้
ทางสายกลาง คือสิ่งที่ประพฤติต้องไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ทำแล้วต้องมีความสุขมากกว่าความทุกข์
กุศลกรรม เป็นการละชั่ว คือเอาตัวรอดโดยไม่ทำให้ใครเดือนร้อน หาความสุขโดยไม่ผิดทำนองคลองธรรม และเป็นการทำดี คือ มีวินัย มีความรัก ความเมตตา มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความกตัญญูกตเวที ไม่ละโมบ ยึดติดวัตถุ การปลูกพืชพันธุ์แห่งความสุขของมนุษย์ชาติ ต้องมีวินัยเป็นราก มีปัญญาเป็นลำต้น มีกระแสสังคมเป็นกิ่งและใบ ออกลูกเป็นกุศลกรรม เป็นผลไม้แห่งความสุข
ความรัก ความเมตตา เป็นหลักธรรมที่สมบูรณ์ที่สุดที่จะช่วยให้มนุษย์ ชนะทุกข์ สร้างสุขได้ ซึ่งเป็นหลักธรรมหนึ่งในพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา ช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข กรุณา ช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข ยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น ซึ่งเป็นผลที่เกิดมาจากการมีเมตตา กรุณาแท้ๆ และอุเบกขา การวางเฉย จะเกิดขึ้นได้เมื่อทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา และเข้าถึงความจริงของกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และมีศรัทธาอันมั่นคงในพระผู้เป็นเจ้า ทำให้เราตามไปดูด้วยความเข้าใจเราก็สามารถวางเฉยได้ ถ้าเรารักใครด้วยความเมตตา เราก็สมารถให้เขาได้ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำให้เราได้ดังสิ่งที่เราหวัง
ความกตัญญู เป็นมารดาแห่งความดีงามทั้งปวง กตัญญูต่อครอบครัว ต่อองค์กร สังคม
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่าง จะสามารถแก้ไขได้ด้วย สติ ปัญญา ศรัทธา กุศลกรรม สายกลาง ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการทั้ง ๕ ที่กล่าวมาก็จะส่งผลให้เราทำงานอย่างมีความสุข เพื่อร่วมงานก็มีความสุข ผู้รับบริการก็มีความสุข สุดท้ายก็ส่งผลให้องค์กรเกิดความสุขนั่นเอง
ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงาน
การสอนและการบริหารงาน
ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาต่อ
การเรียนการสอน
การพัฒนานักศึกษา
การบริหารงาน (602)