ศาสตร์และศิลป์ในการสอนภาคปฏิบัติ
รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 1 2 และ 3 : แนวปฏิบัติที่ดี
กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และบริหารการพยาบาล
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช
ความสำคัญของรายวิชา
กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และบริหารการพยาบาลเป็นกลุ่มวิชาที่รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 1 2 และ 3 โดยรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 1 เป็นการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมบนพื้นฐานทฤษฎีการดูแลด้วยความเอื้ออาทรแก่บุคคลวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความผิดปกติของการรับประทานอาหารและน้ำ การขับถ่ายอุจจาระ การขับถ่ายปัสสาวะ ผิวหนังกระดูก ข้อและกล้ามเนื้อ ฮอร์โมน ในระยะเฉียบพลัน วิกฤตและเรื้อรัง โดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ยึดหลักจริยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน เลือกใช้ทรัพยากร เทคโนโลยีเหมาะสม ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งเสริมสร้างศักยภาพบุคคลในการดูแลตนเอง
รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 2 เป็นการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมบนพื้นฐานทฤษฎีการดูแลด้วยความเอื้ออาทรแก่บุคคลวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะรับสัมผัส ภูมิคุ้มกัน เซลล์เจริญเติบโตผิดปกติ เลือดและส่วนประกอบของเลือด อวัยวะสืบพันธุ์และเพศสัมพันธ์ปัญหาที่เกิดจากโรคติดต่อและโรคเขตร้อน ในระยะเฉียบพลัน วิกฤตและเรื้อรัง โดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ยึดหลักจริยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน เลือกใช้ทรัพยากร เทคโนโลยีเหมาะสม ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งเสริมสร้างศักยภาพบุคคลในการดูแลตนเอง
รายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3 เป็นการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการพยาบาลในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมบนพื้นฐานทฤษฎีการดูแลด้วยความเอื้ออาทรแก่บุคคลวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความผิดปกติของการหายใจ การไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง สมองและไขสันหลัง และภาวะล้มเหลวหลายระบบ ทั้งในระยะเฉียบพลัน วิกฤตและเรื้อรัง โดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ ยึดหลักจริยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน เลือกใช้ทรัพยากร เทคโนโลยีเหมาะสม ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งเสริมสร้างศักยภาพบุคคลในการดูแลตนเอง
การจัดการเรียนการสอน
ในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 3 รายวิชา ได้จัดแบ่งให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติ ณ หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม หอผู้ป่วยศัลยกรรมและหอผู้ป่วยอายุรกรรม ณ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช กลุ่มละ 8 คน ฝึกปฏิบัติเฉพาะเวรเช้า โดยมีอาจารย์พยาบาลที่มีวุฒิการศึกษาตรงการเกณฑ์ของสภาการพยาบาลนิเทศ องค์ประกอบในการสอนภาคปฏิบัติประกอบด้วยการประชุมปรึกษาทางการพยาบาลก่อน-หลัง การนิเทศ การสอนการพยาบาลในคลินิก จากที่ผ่านมาพบว่า การสอนภาคปฏิบัติมีความหลากหลายโดยเทคนิคและวิธีการ ทางกลุ่มวิชา ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ร่วมกันจัดทำการจัดการความรู้ในประเด็นดังกล่าว และสรุปเป็นแนวปฏิบัติที่ดี โดยมุ่งหวังให้อาจารย์นิเทศ และพยาบาลวิชาชีพ ได้นำไปใช้ให้เป็นแนวทางในการสอนภาคปฏิบัติต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับวิชาชีพการพยาบาล
แนวปฏิบัติที่ดีในการสอนรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 1 2และ 3
1.การประชุมปรึกษาก่อนให้การพยาบาล (Preconference)
การประชุมปรึกษาก่อนให้การพยาบาล (Preconference) เป็นการประชุม ปรึกษาก่อนเริ่มปฏิบัติงานในแต่ละเวรเพื่อมอบหมายงาน ชี้แนวทางปฏิบัติงาน และการปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะอย่างให้กับนักศึกษา ดังนั้นผู้สอนจะต้องประชุมปรึกษากับนักศึกษาที่อยู่ในความดูแล ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถทำเป็นรายกลุ่มและรายบุคคลก็ได้ แต่การประชุมปรึกษาเป็นรายกลุ่มจะช่วยให้นักศึกษา เกิดการเรียนรู้จากกลุ่มด้วย
วัตถุประสงค์ของ Preconference
1.เพื่อตรวจสอบความพร้อมของนักศึกษาในการปฏิบัติงานในวันนั้น
2.เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในวันนั้นๆ
3.สร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานให้กับนักศึกษา
4.เพื่อให้การวางแผนการพยาบาลมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
สาระของ Preconference
1.วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
2.ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย
-ประวัติการเจ็บป่วยและสภาพผู้ป่วย ณ ปัจจุบัน
-ปัญหาที่พบเรียงลำดับความสำคัญและเร่งด่วนของปัญหา
-แผนการพยาบาลที่สอดคล้องกับการรักษา
3.ข้อความรู้เกี่ยวกับกรณีผู้ป่วยและอื่นๆ
วิธีการ/แนวปฏิบัติของ Preconference
1.อาจารย์นิเทศ ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในหอผู้ป่วยเพื่อศึกษาข้อมูลผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบ
ของนักศึกษาทั้ง 8 ราย
2.อาจารย์นิเทศสามารถแบ่งทีม preconference โดยแบ่งคนละทีมกับพยาบาลวิชาชีพที่
เป็นหัวหน้าทีมให้ช่วย preconference นักศึกษา
3.อาจารย์นิเทศจัดกลุ่มโรคของผู้ป่วยที่นักศึกษาได้รับมอบหมาย นำนักศึกษาที่ได้ case
กลุ่มโรคที่ใกล้เคียงกันมา conference พร้อมกัน
3.มอบหมายให้นักศึกษาจัดทำ mapping วิเคราะห์ทฤษฏีกับข้อมูลผู้ป่วย เพื่อนำมา
ใช้ประกอบในการ preconference
4.อาจารย์นิเทศ เป็นผู้นำประชุมปรึกษา โดยให้นักศึกษานำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่อยู่ในความรับผิดชอบที่ละคน สมาชิกคนอื่นๆร่วมอภิปราย โดยใช้ mapping เป็นแนวทาง
5.อาจารย์นิเทศให้ข้อเสนอแนะ เพิ่มเติมแผนการพยาบาลและเน้นย้ำประเด็นสำคัญๆในการปฏิบัติการพยาบาล
6.อาจารย์นิเทศต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้า
บริบทของแต่ละหอผู้ป่วยและนักศึกษาแต่ละคน
ระยะเวลา
เวลาในการ Preconference ไม่ควรเกิน ๓๐ นาที หรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
2.การประชุมปรึกษาหลังให้การพยาบาล (Postconference)
เป็นการประชุมปรึกษาหลังการปฏิบัติงานในแต่ละเวร โดยนักศึกษาร่วมกันอภิปรายประสบการณ์ การวิเคราะห์สถานการณ์ ระบุปัญหาและระบายความรู้สึก เพื่อช่วยให้การปฏิบัติการพยาบาลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของ Postconference
1.เพื่อติดตามผลการปฏิบัติการพยาบาลที่ให้กับผู้ป่วยไปแล้ว
2.เพื่อทราบปัญหา/อุปสรรคของการปฏิบัติการพยาบาลและวางแผนแก้ไขปัญหา รวมทั้งสิ่งที่ต้องปฏิบัติการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
3.เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ที่ได้จากการปฏิบัติทั้งด้านความรู้ ทัศนคติและทักษะต่างๆ
4.เพื่อวางแผนการศึกษาต่อเนื่องที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในวันนั้น
สาระของ Postconference
1.ผลการปฏิบัติการพยาบาล
2.ปัญหาและอุปสรรคของการปฏิบัติการพยาบาล
3.สิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อไป
4.สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ผลการเรียนรู้
5.ทัศนคติและความรู้สึกของนักศึกษาที่มีต่อการปฏิบัติการพยาบาล
6.ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อการปฏิบัติพยาบาลของนักศึกษา
วิธีการ/แนวปฏิบัติ
1.เมื่อถึงเวลานัดหมาย อาจารย์นิเทศ เรียกนักศึกษาแต่ละคน มาร่วมประชุมโดยให้นักศึกษา
นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย อาการ และการเปลี่ยนแปลงในเวร ปัญหาเด่นของผู้ป่วย ปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรง ผลการปฏิบัติการพยาบาล ปัญหาอุปสรรค และผลการเรียนรู้รวมถึงทักษะต่าง ๆ
2.อาจารย์นิเทศกระตุ้นให้สมาชิกนักศึกษาคนอื่นๆร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมอภิปราย
3.อาจารย์นิเทศให้ข้อเสนอแนะ เพิ่มเติมสาระการเรียนรู้ ชี้แนะนักศึกษาเป็นรายบุคคลโดยครอบคลุมทั้ง ความรู้ และทักษะทางการพยาบาล
4.อาจารย์นิเทศให้นักศึกษาประเมินตนเอง
5.อาจารย์นิเทศชื่นชม และให้กำลังใจนักศึกษาเมื่อนักศึกษาให้การพยาบาลผู้ป่วยได้ดี
ระยะเวลา
เวลาในการ Postconference ไม่ควรเกิน ๔๕ นาที หรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
3.การนิเทศการพยาบาลในคลินิก
การสอนการพยาบาลในภาคปฏิบัติ หรือการสอนการพยาบาลในคลินิก เป็นหัวใจในการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพพยาบาล มีความมุ่งหมายหลายประการด้วยกันคือ การสอนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีมาฝึกฝน ตรวจสอบในการทดลองปฏิบัติ
การสอนการพยาบาลในคลินิก เป็นกระบวนการจัดทักษะและความสามารถของผู้เรียนอย่างเป็นลำดับจากงาย ไปยาก จากเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ โดยอาจารย์นิเทศ ทุกคนจะใช้รูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอน ที่หลากหลายที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรายวิชา เพื่อทำให้การฝึกปฏิบัติบรรลุเป้าหมายโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
วัตถุประสงค์การนิเทศการพยาบาลในคลินิก
1.เพื่อติดตามการปฏิบัติการพยาบาลของนักศึกษาให้เป็นไปตามแผนการพยาบาล
2.เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาเกิดความชำนาญ จนเกิดทักษะในการปฏิบัติการพยาบาล
3.เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษานำความรู้ภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์
4.เพื่อให้นักศึกษารู้จักคิดค้น หาวิธีการปฏิบัติการพยาบาล ได้ด้วยตนเอง มีความสามารถในการนำตนเอง
4.เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ
วิธีการ/แนวปฏิบัติ การนิเทศการพยาบาลในคลินิก
คุณสมบัติของผู้นิเทศ
1. มีมนุษยสัมพันธ์ เอื้ออาทร มีความเป็นกัลยาณมิตร
2. มีความรู้ ความสามารถ ในการชี้แนะ / แนะนำ ให้คำปรึกษา มีทักษะและประสบการณ์ที่เพียงพอ
3. สามารถเชื่อมโยงทฤษฎี และวิทยาการต่าง ๆ ได้
4. มีทักษะในการติดต่อสื่อสารที่ดี
ทักษะและเทคนิคของการนิเทศการพยาบาลในคลินิก
1. อาจารย์นิเทศประเมินความรู้และประสบการณ์ของนักศึกษาจากการทำ Pre-conference
2. อาจารย์นิเทศจำแนกนักศึกษาตามความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 มีความรู้น้อยและขาดทักษะ
กลุ่มที่ 2 มีความรู้แต่พร่องทักษะ
กลุ่มที่ 3 มีความรู้และมีทักษะที่เพียงพอ
เทคนิคการนิเทศ อาจารย์นิเทศให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ 1 มีความรู้น้อยและขาดทักษะ ติดตามการนิเทศอย่างใกล้ชิด กลุ่มที่ 2 มีความรู้ แต่พร่องทักษะ อาจารย์นิเทศหรืออาจารย์พี่เลี้ยง ร่วมกันช่วยนิเทศ กลุ่มที่ 3 มีความรู้และมีทักษะที่เพียงพอ อาจารย์นิเทศแบบทั่วไป
3. การปฏิบัติการพยาบาลที่ใช้ทักษะที่เหมือนกัน อาจารย์นิเทศจะใช้รูปแบบการนิเทศเป็นรายกลุ่ม หัตถการ /ปฏิบัติการนิเทศ ที่มีลักษณะเฉพาะ จะนิเทศแบบมีส่วนร่วมเป็นรายบุคคล
4. การนิเทศนักศึกษา ในช่วงการตรวจเยี่ยมทางการพยาบาล (Nursing round) อาจารย์นิเทศควรศึกษากรณีของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎี เช่น พยาธิสภาพ อาการและอาการแสดง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น กับการพยาบาลผู้ป่วยของนักศึกษาแต่ละราย
5. อาจารย์นิเทศการเขียนบันทึกทางการพยาบาล โดยกระตุ้นให้นักศึกษาเขียนบันทึกทางการพยาบาลโดยการจับประเด็นปัญหาของผู้ป่วย และวางแผนให้การพยาบาลที่ครอบคลุม และเป็นปัจจุบัน
6. การนิเทศ ควรสอดแทรกประเด็นจริยธรรม ความเอื้ออาทร การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ให้กับนักศึกษา
7. อาจารย์นิเทศ ควรใช้เทคนิคการสะท้อนคิดกับนักศึกษาแต่ละคนเป็นระยะ ๆ
8. อาจารย์นิเทศต้องวางเป้าหมายการนิเทศให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้น ๆ และมีการประเมินผลเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง
9. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของอาจารย์นิเทศแต่ละคน เพื่อที่จะนำไปปรับปรุงในการนิเทศครั้งต่อไป
4.การสอนการพยาบาลในคลินิก
การสอนการพยาบาลในคลินิกเป็นการสอนภาคปฏิบัติมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะพิสัย คือพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการทั้งสามารถปรับแปลงแนวทางปฏิบัติการพยาบาลให้เกิดผลดี สามารถวิเคราะห์ หลักการเหตุผลในการประเมินผลการปฏิบัติการพยาบาลได้
คุณสมบัติของอาจารย์นิเทศ
1.มีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร วัตถุประสงค์ รายละเอียดของรายวิชาที่จะสอนภาคปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้
2.มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในหอผู้ป่วยที่สอนภาคปฏิบัติ
3.มีการเตรียมและจัดทำแผนการสอนในคลินิกล่วงหน้า อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ที่สอดคล้องกับ
วัตถุประสงค์รายวิชา และบริบทของผู้ป่วยและหอผู้ป่วย
4.ใช้เทคนิคการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งพุทธิพิสัย ทักษะพิสัย และจิตพิสัย
5.มีศิลปะในการสอนที่ทำให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรู้
6.มีความสามารถในการใช้ภาษาที่สามารถสื่อสารให้นักศึกษาเข้าใจได้ง่าย
7.ใช้ทักษะการสอนที่เหมาะสม เช่น การอธิบาย ใช้ วาจา กิริยา ท่าทาง การเสริมแรง
8.มีความยืดหยุ่น สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดี เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน
9.มีไวพริบปฏิภาณในการแก้ปัญหาขณะทำการสอนได้ดี
10.มีความมั่นใจในการสาธิตหรือปฏิบัติให้นักศึกษาดูเป็นตัวอย่างได้
วิธีการ/แนวปฏิบัติของเทคนิคและวิธีการสอน
- 1. ขั้นเตรียมสอน
1.1 ศึกษารายละเอียด วัตถุประสงค์รายวิชา
1.2 ประเมินความรู้พื้นฐานและประสบการณ์เดิม ความสามารถของผู้เรียน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเตรียมสอน
1.3 มีการร่วมกันจัดทำแผนการสอนที่สอดคล้องกับรายวิชา เป็นแนวทางเดียวกันในแต่ละแผนก เช่น กุมารเวชกรรม ศัลยกรรมและอายุรกรรม
1.4 เตรียมสื่อการสอนให้สอดคล้องกับแผนการสอน เช่น ผู้ป่วยกรณีศึกษา อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ แฟ้มประวัติผู้ป่วย
1.5 ศึกษาเอกสาร วารสาร งานวิจัยที่ทันสมัยไม่เกิน 5 ปีเพื่อใช้อ้างอิงในการจัดทำแผนการสอน
- 2. ขั้นสอน
2.1 ใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย เช่น
2.1.1 การสอนแบบสาธิต เหมาะสมสำหรับเนื้อหาที่เป็น Procedure
เช่น การสอนทำแผล การดูดเสมหะ การพ่นยา การเจาะท้อง การเจาะน้ำไขสันหลัง
2.1.2 การสอนโดยการใช้การประชุมปรึกษาทางการพยาบาลโดยเปิด
โอกาสให้พยาบาลพี่เลี้ยงประจำแหล่งฝึกมีส่วนร่วมและวางแผนร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยการเรียนการสอนใช้เทคนิคการอภิปรายและเทคนิควิธีการแก้ไขปัญหาตามลำดับขั้น เช่น การประชุมปรึกษาทางการพยาบาลที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ การประชุมปรึกษาทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
2.1.3 ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลผู้ป่วยที่ทันสมัยในโรคต่างๆ
เช่น การดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ การป้องกันการเกิดแผลกดทับ การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล
2.1.4 การวิเคราะห์กรณีตัวอย่าง เป็นวิธีการสอนโดยใช้รูปแบบการ
อภิปรายเป็นการนำเสนอข้อมูล สะท้อนความคิดจากปัญหาที่รับการแก้ไขไปแล้วด้วยการนำข้อมูลต่างๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริงในเวลานั้นและสถานการณ์นั้นๆมาวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์รายวิชา เพื่อให้นักศึกษาได้อภิปรายกลุ่ม และระดมพลังสมองและให้ข้อตัดสินโดยมีผู้สอนเป็นผู้อำนวยการอภิปรายกลุ่ม เช่น การวิเคราะห์ตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การวิเคราะห์กรณีตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
3.ขั้นประเมินผล
ประเมินผลระยะสั้นโดยวิธีสังเกต จากความสนใจในการสอน การซักถาม แสดงความคิดเห็น การตอบคำถาม และการสาธิตย้อนกลับ การสะท้อนคิดของผู้เรียน
ประเมินผลระยะยาว จากการติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยในครั้งต่อไป
ระยะเวลาสถานที่บรรยากาศการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสอน
ระยะเวลาที่ใช้สอนที่เหมาะสม 30-45 นาที ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงช่วงเวลาที่หอผู้ป่วยไม่
ยุ่งวุ่นวายจนเกินไปเพื่อให้ผู้เรียนมีสมาธิในการเรียน
สถานที่ บนหอผู้ป่วยที่ผู้เรียนฝึกปฏิบัติงาน
บรรยากาศ บรรยากาศการสอนควรเป็นกัลยาณมิตร และควรดึงศักยภาพพยาบาลพี่
เลี้ยงมามีส่วนร่วมในการสอน
บรรณานุกรม
กนกนุช ขำภักตร์.(2549).เทคนิคการประชุมปรึกษาทางการพยาบาล ใน
Naval Nursing College Newsletter. Vol 5 No.2 May-August.
มณฑาทิพย์ ไชยศักดิ์.(2543). ระเบียบวิธีการสอนการพยาบาลในคลินิก.นนทบุรี:
บริษัทยุทธรินทร์การพิมพ์จำกัด
รายนามผู้จัดทำ
อาจารย์กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และบริหารการพยาบาล
1.นางยุพิน ทรัพย์แก้ว
2.นางชุติมา รักษ์บางแหลม
3.นางสาวลักษณ์นนท์ เดชบุญ
4.นางสาววรนิภา กรุงแก้ว
5.นางสาวอรุณรัตน์ โยธินวัฒนบำรุง
6.นางสาววิลาสินี แผ้วชนะ
7.นางมณฑิรา มังสาทอง
8.นางวันดี แก้วแสงอ่อน
9.นางพิมพวรรณ เรืองพุทธ
10.นางเกษรา วนโชติตระกูล
11.นางสาวจามจุรี แซ่หลู่
12.นางนอลิสา สูนสละ
13.นางสาวนภาวรรณ วิริยะศิริกุล
(5444)