แบบฟอร์มสำหรับส่งบทความเข้าคลังความรู้
วันที่บันทึก : 18 สิงหาคม 2557
ผู้บันทึก : นางมลิวัลย์ บุตรดำ นางสาวเบญจมาศ จันทร์อุดม นางสาวจตุพร ตันตะโนกิจ
และนางสาวขจิต บุญประดิษฐ
กลุ่มงาน : การพยาบาลสูติศาสตร์
ประเภทการปฏิบัติงาน: การประชุม
วันที่ 6 – 8 สิงหาคม 2557
หน่วยงาน/สถาบันที่จัด :
สถานที่จัด : ณ ห้องประชุมภัทรมหาราชการุณย์ อาคารมหิดลอดุลยเดช- พระศรีนคริทร ชั้น ๕ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
เรื่อง “ดูแลอย่างไรให้ได้ใจแม่วัยทีน”
รายละเอียด
ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากการประชุมครั้งนี้
ด้านเนื้อหาสาระ
วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗
ท้องในวัยเรียน: ความท้าทายในการพัฒนาคุณภาพประชากร โดย คุณทัศนัย ขันตยาภรณ์
สถานการณ์ในประเทศไทย คาดประมาณจำนวนท้องไม่พร้อม 3 – 4 แสนรายต่อปี หนึ่งในสามเป็นวัยรุ่น ผลกระทบท้องไม่พร้อม
1. ตาย พิการติดเชื้อรุนแรง จากการทำแท้งไม่ปลอดภัย
๒๕๔๒: ติดเชื้อรุนแรง ๒๘.๘% อัตราเสียชีวิต ๓๐๐ ต่อแสน
๒๕๕๓: ติดเชื้อรุนแรง ๒๑.๔% รายงาน สปสช. พบผู้ตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยทุกปี
๒. เกิดครรภ์ที่ไม่ได้รับการดูแล และคลอดทารกที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ พิการ
๓. เด็กเกิดมาขาดแคลนคนดูแล กำพร้า เติบโตในครอบครัวที่ไม่พร้อม และเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงและอาชญากรรม
ทำไมถึงท้องและไม่พร้อม
ทำไมถึงท้อง
- ไม่ได้คุมกำเนิด ๕๗.๙%
- คุมกำเนิดแต่พลาด ๔๐.๑%
- ถูกละเมิดทางเพศ ๑.๙%
ทำไมจึงไม่พร้อม
- ไม่มีเงินเลี้ยงดู (เศรษฐกิจ)
- ยังเรียนอยู่
- อุปสรรคการทำงาน
- มีบุตรเพียงพอ
- อายุมากเกินไป
คาดประมาณจำนวนมารดาวัยรุ่นที่คลอดบุตร อัตราเกิดประเทศไทย ๑.๓% จำนวนเกิดต่อปี ๗-๘ แสนคน ๑๕.๕% เกิดจากแม่ที่มีอายุน้อยกว่า ๒๐ ปี จำนวนแม่วัยรุ่น ๑ แสนคนต่อปี
อัตราการเกิดของประเทศไทยลดลงเหลือ ๑.๓ % หรือ ๘ แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มลดลงทุกที สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหา เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ การพัฒนาคุณภาพคนไทยจึงต้องเริ่มจาก การเกิดที่มีคุณภาพที่เป็นผลมาจาก การท้องที่พร้อมและตั้งใจ
การเกิด/มีชีวิตต่อไป ที่ไม่พร้อม
- หญิงท้องขาดสารไอโอดิน ๖๐%
- ทารกคลอดน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ๙% (๗ หมื่นราย)
- ทารกตายในขวบปีแรก ๑๐,๐๐๐ ราย/ปี (วันละ ๒๘ คน)
- เด็กคลอดถูกทอดทิ้ง ๘๐๐ ราย/ปี
- เด็กในสถานสงเคราะห์ ๖,๐๐๐ คน
- เด็กเติบโตในครอบครัวที่ไม่พร้อม (ไม่มีข้อมูล)
แนวคิดการแก้ไขปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข
ยุทธศาสตร์ที่ ๑
การสื่อสารสาธารณะ
- ความรู้ที่ถูกต้อง
- ทัศนคติ วัยรุ่น ครอบครัว สังคม
- ทักษะชีวิต
- แหล่งข้อมูล และให้คำปรึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ ๒
การเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์
- บริการที่ครอบคลุมและตรงตามความต้องการ
- สถานบริการที่วัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้ง่าย
- ลดอุปสรรคต่างๆในการเข้าถึงบริการ เช่น ค่าใช้จ่าย ความพอเพียงของเวชภัณฑ์คุมกำเนิด
- ความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย
ยุทธศาสตร์ที่ ๓
ระบบการให้การดูแลและช่วยเหลือ
- ระบบรับเรื่องสำหรับผู้ต้องการความช่วยเหลือ (OSCC)
- การให้คำปรึกษาแบบมีทางเลือก
- การให้การดูแลในกรณีที่ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อไป
- การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
- การให้บริการคุมกำเนิดที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ
- การให้ความช่วยเหลือด้านสังคมหลังคลอด เช่น โอกาสในการศึกษาต่อ หรือ อาชีพในอนาคต
Be Buddy with Teen Mom โดย ผศ.ดร.เอมพร รตินธร
ความจริงที่ทราบแล้วเกี่ยวกับการตั้งครรภ์วัยรุ่น
ทารกที่เกิดจากแม่วัยรุ่น:
- มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่า
- มีโอกาสที่เกิด LBW มากกว่ามารดาวัยผู้ใหญ่
- มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า
- มีความเสี่ยงที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลจากอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยมากกว่า
- มีพัฒนาการล่าช้าและปัญหาการขาดอาหารมากกว่าในขวบปีแรก
- มีโอกาสถูกทอดทิ้ง และถูกกระทำรุนแรง
สตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น
- มาฝากครรภ์ล่าช้า หรือไม่มาฝากครรภ์มากกว่า
- มีความเสี่ยงที่จะรับประทานอาหารไม่เพียงพอ/ไม่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์
- มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดมากกว่า
- มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากกว่ามารดาวัยผู้ใหญ่ถึง ๓ เท่า
- มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า
- มีปัญหาทางจิตใจในช่วงที่บุตรมีอายุ ๓ ขวบปีแรกมากกว่า
- มีความเสี่ยงที่จะแยกทางกับบิดาของบุตร
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ
- ขาดโอกาสทางการศึกษา
ความต้องการการดูแลจากมุมมองของสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นและครอบครัว
- คลินิกเฉพาะ: การบริการที่ไม่ต้องเผชิญกับสายตาที่ตำหนิ
- อยากให้ผู้ให้บริการเข้าใจวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และมารดาวัยรุ่นในทางบวก
- ต้องการข้อมูลต่างๆที่ตรงกับปัญหา
- มีผู้ดูแลต่อเนื่องที่เชื่อใจและให้เวลา
- ได้รับการยืนยันว่าสามารถทำหน้าที่ “แม่ที่ดีได้”
การพัฒนาระบบการดูแลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น
- การจัดบริการที่เข้าใจธรรมชาติ ความต้องการและปัญหาของวัยรุ่น
- สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพมารดาวัยรุ่นในการเลี้ยงดูบุตร
- เพิ่มการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ สนับสนุนของครอบครัว
- การป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ
วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗
การสื่อสารอย่างไรให้เข้าถึงใจวัยรุ่น โดย ศาสตราจารย์คลินิก พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์
การสื่อสาร คือ กระบวนการติดต่อ สัมพันธ์ ถ่ายทอดข้อมูล ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติและค่า
นิยมระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเกิดพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์ การสื่อสารที่ดีนำ
ไปใช้ในการสอน ประชาสัมพันธ์ การให้คำปรึกษา การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสาร
ทางบวก (positive communication) เป็นรูปแบบและเทคนิคการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ สร้างความรู้สึก
ความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความเข้าใจ จูงใจให้ร่วมมือ ยอมรับและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เหมาะ
สำหรับผู้ที่ต้องสื่อสารกับวัยรุ่นซึ่งมักมีปัญหาในการพูดคุย สอน ตักเตือน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เทคนิคการสื่อสารทางบวก
เทคนิคต่อไปนี้ พ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้ปฏิบัติงานกับวัยรุ่นสามารถนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารกับวัยรุ่น
๑. มีทัศนคติที่ดีกับวัยรุ่น (Good Attitudes)
ทัศนคติดีต่อวัยรุ่นที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ ร่วมมือ เปิดเผย ยอมรับได้ง่าย คือท่าทีด้าน
บวกแบบยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข (unconditioned positive regard) มองในแง่ดี เป็นกลาง (neutral)
มีความเข้าใจ(understanding) อยากช่วยเหลือ (empathy) เห็นใจ (sympathy) เริ่มต้นจากการค้นหาด้าน
ดี และหยิบยกข้อดีของวัยรุ่นมาเริ่มต้นในการสื่อสาร ความรู้สึกดีนี้ที่จะถ่ายทอดทางสีหน้า แววตา ท่าที
และท่าทางที่รับรู้ได้ ทำให้เกิดการยอมรับ เปิดช่องการสื่อสารสองทาง (two – way communication)
๒. จัดสิ่งแวดล้อมให้ดี
สถานที่พูดคุยสื่อสารได้ดีควรเป็นส่วนตัว สงบ ผ่อนคลาย ไม่มีการรบกวน เพื่อส่งเสริมให้
เปิดเผยได้ง่าย ท่านั่งที่ดี ทิศทางของการนั่งควรเป็นมุมฉากเยื้องกัน (square position) ไม่ควรนั่งหัน
หน้าชนกันตรงๆ ไม่ควรมีสิ่งของกั้นระหว่างกัน ไม่ควรยืนคุยกับวัยรุ่น หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืน ระยะ
ระหว่างกันควรใกล้ พอที่จะสัมผัสต้นแขนหรือไหล่ได้ง่าย การสัมผัสอย่างเหมาะสม แสดงความนุ่มนวล
ความใกล้ชิด
๓. ทักทาย (Greeting)
ในระยะแรก ผู้สื่อสารควรเริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ด้วยการทักทายอย่างอ่อนโยน
นุ่มนวล เป็นกันเอง การทักทาย ถามเรื่องง่ายๆ (small talk) แสดงความเป็นกันเอง พยายามเรียกชื่อ
วัยรุ่นมากกว่าใช้สรรพนาม เช่น“สวัสดีครับ….(เรียกชื่อ)”“…..(ชื่อ) เมื่อกี้ทำอะไรอยู่ครับ”“ทานข้าวแล้วหรือยังครับ….(ชื่อ)”“….(ชื่อ) คาบที่แล้วเรียนอะไร ยากไหมคะ”“….(ชื่อ) ลงแข่งกีฬาสีที่ผ่านมาผลเป็นอย่างไร”
ถ้าผู้สื่อสารไม่ใช่พ่อแม่ การรู้จักพื้นฐานวัยรุ่นบ้าง เช่น ชอบอะไร ทำอะไร เพื่อนเป็นใคร
โดยเฉพาะด้านดีๆ จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นคุยได้อย่างดี พยายามเรียกชื่อเพื่อแสดงความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยเสมอ หลีกเลี่ยงคำว่า “เธอ” หรือสรรพนามอื่นในกรณีที่ยังไม่รู้จักกัน ควรแนะนำตัวเอง วัตถุประสงค์ของการคุยกัน เวลาที่จะคุยกัน เพื่อให้วัยรุ่นเข้าใจ บรรยากาศผ่อนคลาย และเป็นกันเอง
๔. เริ่มต้นจากข้อดีของวัยรุ่น (Beginning with Positive Aspects)
พยายามหาข้อดี จุดดี ด้านบวกของวัยรุ่น และหยิบยกมาเป็นจุดเริ่มต้นก่อน เช่น การแสดง
ความยินดี แสดงข้อดีของวัยรุ่นก่อน เช่น“ดีมากที่……(ชื่อ) รีบมาหาครู”“พ่อกำลังอยากคุยกับลูกพอดี ได้ข่าวดีเรื่องผลสอบของลูกแล้ว”“ตื่นเช้าดี แม่อยากปรึกษาเรื่อง…..”“ครูทราบว่า………(ชื่อ) ชนะการแข่งขันวิ่ง ดีใจด้วยนะ”“ครูยินดีกับผลการสอบที่ผ่านมาของ………(ชื่อ)”“การประกวดการแสดงที่ผ่านมา……… (ชื่อ) ทำได้ดีมากนะ”อาจใช้เวลาสักครู่ในการคุยเรื่องที่วัยรุ่นพอใจเกี่ยวกับตัวเอง แสดงให้เห็นว่าครู หรือพ่อแม่ สนใจ
ดีใจ ชื่นชมตัวเขา ก่อนจะเริ่มต้นในเรื่องที่ต้องการคุยด้วยจริง
๕. สำรวจลงไปในปัญหา
ครูหรือพ่อแม่พยายามสำรวจความรู้ ความเข้าใจของวัยรุ่นในการพูดคุยครั้งนี้ โดยใช้เทคนิคการถาม
“รู้ไหมว่าพ่ออยากคุยด้วยเรื่องอะไร”“ทราบหรือไม่ว่าครูอยากคุยด้วยเรื่องอะไร”“ช่วยเล่าให้ครูฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”“เป็นอย่างไร ถึงมาพบครูที่นี่”“ลองเดาดูว่า เหตุใดพ่อแม่ถึงพามาพบครู”“ครูทราบจากพ่อแม่ว่า………………… ……….(ชื่อ) คิดอย่างไรบ้าง”“แล้วปัญหาในความคิดของ……….. คืออะไร”“อยากให้พ่อแม่เข้าใจอย่างไร อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น”เรื่องที่วัยรุ่นไม่อยากเล่าในช่วงแรก ควรข้ามไปก่อน โดยทิ้งท้ายไว้ว่าน่าจะกลับมาคุยกันอีกในโอกาสต่อไป“เรื่องนี้น่าสนใจมาก สำคัญทีเดียว แต่….ยังไม่อยากเล่าในตอนนี้ ไม่เป็นไร เอาไว้เมื่อพร้อมที่จะเล่าแล้วค่อยเล่าก็ได้ ครูขอคุยเรื่องอื่นก่อน แล้วจะขอย้อนกลับมาคุยเรื่องนี้ทีหลัง ดีไหม”ในการสำรวจลงลึกในประเด็นปัญหา ควรสังเกตท่าที ความร่วมมือ การเปิดเผยข้อมูลว่าวัยรุ่นมีความไว้วางใจมากน้อยเพียงไร มีเรื่องใดที่วัยรุ่นยังกังวล ลังเลที่จะเปิดเผย ไม่แน่ใจว่าจะถูกเปิดเผยจนมี
ผลเสียตามมา ควรให้ความมั่นใจเรื่องนี้ โดยเน้นการรักษาความลับ (confidentiality) ดังนี้
“เรื่องที่คุยกันนี้ ครูคงไม่นำไปบอกพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ฟัง”“เรื่องที่เราคุยกันนี้ รู้กันระหว่างเราสองคนแม่ลูก”“เรื่องนี้พ่อคงไม่เล่าให้ใครฟัง แต่อยากเข้าใจว่าเกิดขึ้นอย่างไร”“ถ้ามีเรื่องที่ครูจำเป็นต้องบอกพ่อแม่ ครูจะบอก (ชื่อ)….ก่อน”
๖. ฟังอย่างตั้งใจ (Active listening)
การสื่อสารที่ดีควรเป็นไปแบบสองทาง คือการฟัง และการพูด แต่ในระยะแรกควรพยายาม
กระตุ้นให้วัยรุ่นพูดและแสดงออก สร้างทัศนคติให้วัยรุ่นรู้สึกว่า “ผู้ใหญ่สนใจ และฟัง”การฟังอย่างตั้งใจ (active listening) แสดงออกโดยสนใจฟัง จดจำรายละเอียด พยายามเข้าใจความคิดความรู้สึก สอบถามเมื่อสงสัย ให้วัยรุ่นขยายความ และถามความคิด ความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนั้นเป็นระยะๆในขณะฟังอย่าเพิ่งวางแผนว่าจะพูดอะไรต่อไป ให้สนใจจดจำข้อมูลที่วัยรุ่นพูดให้ได้ และอ้างอิงถึงในทางบวก วัยรุ่นจะรู้สึกประทับใจที่ผู้ใหญ่สนใจ จำได้ ทำให้ร่วมมือเปิดเผยมากขึ้น การคิดวิเคราะห์ไปด้วยในระหว่างการฟัง ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมวัยรุ่นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรระวังทัศนคติของตนเองที่อาจไม่ชอบพฤติกรรมนั้น ทำให้รีบตักเตือน สั่งสอนเร็วเกินไป ทำให้วัยรุ่นหยุดการเปิดเผย
๗. หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม”
เวลาวัยรุ่นมีพฤติกรรมบางอย่างไม่ดี ผู้ใหญ่มักเคยชินกับการถามด้วยคำว่า “ทำไม” เช่น“ทำไมเธอมาโรงเรียนสาย” “ทำไมเธอไม่ตั้งใจเรียน”
การใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม…..” สื่อสารความหมาย ๒ แบบ คือ
๑. เธอแย่มาก ทำไมจึงทำเช่นนั้น
๒. ถ้ามีเหตุผลดีๆ การกระทำเช่นนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับได้
ผลที่ตามมามักเป็นด้านลบ คือ วัยรุ่นรู้สึกถูกตำหนิว่าตนเองไม่ดี และอาจพยายามหาเหตุผล
เข้าข้างตนเองมากขึ้น เพื่อยืนยันว่าความคิดและการกระทำของเขาถูกต้อง คำถาม “ทำไม” จึงกระตุ้น
และส่งเสริมให้วัยรุ่นเถียงแบบข้างๆ คูๆ จนในที่สุดผู้ใหญ่โมโหเอง เสียความสัมพันธ์ได้ง่าย ดังนั้น
พยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม”ถ้าต้องการทราบเหตุผลจริงๆ ของพฤติกรรมนั้น ให้เปลี่ยนเป็นคำถามต่อไปนี้“พ่ออยากรู้จริงๆ ว่าอะไรทำให้ลูกทำอย่างนั้น”“พอจะบอกได้ไหมว่า ….. (ชื่อ) คิดอย่างไรก่อนที่จะทำอย่างนั้น”“เกิดอะไรขึ้น ทำให้ …. มาโรงเรียนสายในวันนี้”“เหตุการณ์เป็นอย่างไร ลองเล่าให้แม่เข้าใจหน่อย”
๘. ใช้คำพูดที่ขึ้นต้น “ฉัน……” มากกว่า “เธอ………….” ( I – YOU Message)
ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “เธอ” หรือ “คุณ” นั้นเรียกว่า You-message มักแฝงความรู้สึกด้านลบ
คุกคาม และตำหนิ การสื่อสารที่ดีควรเปลี่ยนไปเป็นประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” หรือ “ผม” ที่เรียกว่า I -message ที่สร้างความรู้สึกนุ่มนวลกว่าแทน สังเกตเปรียบเทียบประโยค You และ I – message
ในการสื่อสารความต้องการเดียวกันต่อไปนี้ การสื่อสารที่ต้องการให้นักเรียนมาโรงเรียนเช้า“ครูไม่ชอบการที่นักเรียนมาสาย” (I – message) ดีกว่า “เธอนี่แย่มากที่มาสาย” (You -message)“ครูอยากให้นักเรียนมาเช้า” (I – message) ดีกว่า “ทำไมเธอมาสาย” (You – message แถมมีคำว่า ทำไมด้วย) การสื่อสารให้นักเรียนฟังครูพูด“ครูไม่ชอบเวลาพูดแล้วไม่มีคนตั้งใจฟัง” (I – message) ดีกว่า “ทำไมพวกเธอไม่ตั้งใจฟัง”(You – message แถมมีคำว่า ทำไมด้วยเช่นกัน)“ครูอยากให้นักเรียนหยุดฟัง เวลาครูพูด” ดีกว่า “เธอไม่ฟังครูเลย”
ในสถานการณ์อื่นๆ ลองเปลี่ยนการสื่อสารให้เริ่มด้วย I – message ต่อไปนี้“ครูเสียใจที่เธอทำเช่นนั้น” ดีกว่า “เธอทำอย่างนั้นไม่ดี”“พ่อครูอยากให้………………”“แม่จะดีใจมากที่…………….”“ครูคิดว่า………………..”
วิธีฝึกในชีวิตจริง ก่อนจะเริ่มพูดกับวัยรุ่น ลองฝึกนึกในใจว่าจะพูดประโยคใด เป็น You หรือ
I – message แล้วเปลี่ยนคำพูดใหม่จาก You – message ให้เป็น I – message จะน่าฟัง และวัยรุ่นรู้สึก
ด้านบวกกว่า
๙. กระตุ้นให้บอกความคิด ความรู้สึก ความต้องการ
ผู้ใหญ่ควรฝึกให้วัยรุ่นมีทักษะการสื่อสาร กล้าพูด กล้าบอกความคิด ความรู้สึก และความ
ต้องการ วัยรุ่นบางคนกลัวเพื่อนไม่ยอมรับ เลยยอมทำตามเพื่อน ไม่กล้าปฏิเสธ ถูกเพื่อนเอาเปรียบ
พ่อแม่และครูช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ได้ ด้วยคำถาม
“…..(เรียกชื่อ) คิดอย่างไร เรื่องนี้…………”“….รู้สึกอย่างไร ลองเล่าให้ครูฟัง………..”“…..ต้องการให้เป็นอย่างไร………..” ผู้ใหญ่ควรรับฟังวัยรุ่นมากๆ ให้เขารู้สึกว่า การพูดบอกเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เป็นที่ยอมรับ
และสามารถบอกกับเพื่อนและคนอื่นๆ ได้เช่นกัน ในระยะท้ายๆ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับวัยรุ่นดี สังเกตโดยท่าทีว่าเริ่มยอมรับยอมฟังบ้างแล้ว ผู้ใหญ่อาจสื่อสารสิ่งที่คิด รู้สึก และต้องการสั้นๆ อย่างนุ่มนวล สงบ เพื่อให้เขาทราบความต้องการ ความคาดหวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น
๑๐. ถามความรู้สึก สะท้อนความรู้สึก
การสอบถามความรู้สึก และสะท้อนความรู้สึก ช่วยสร้างความรู้สึกการประคับประคองทางจิตใจ
(emotional support) แสดงถึงความเข้าใจ สนใจวัยรุ่น เช่น “……(ชื่อนักเรียน) คงเสียใจ ที่คุณครูทำโทษ” (สะท้อนความรู้สึก) “….รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน” (ถามความรู้สึก) “….รู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อถูกเพื่อนแกล้ง” (ถามความรู้สึก)“….คงโกรธที่ถูกเพื่อนแกล้ง” (สะท้อนความรู้สึก)“เรื่องที่คุยกันนี้คงจะกระทบความรู้สึกของ…..มาก ครูจะคุยกันต่อได้ไหม” (สะท้อนความรู้สึก)“……รู้สึกไม่พอใจที่คุณแม่ยึดโทรศัพท์มือถือไป”“……โกรธที่ถูกทำโทษ”“……..อึดอัดใจที่ครูถามถึงเรื่องนี้”“…………กังวลใจจนนอนไม่หลับ”การสะท้อนความรู้สึก ช่วยให้วัยรุ่นรู้สึกว่าผู้ใหญ่สนใจ เข้าใจอารมณ์ของตน เกิดความสัมพันธ์ที่ดีการสะท้อนความรู้สึก ช่วยในบางสถานการณ์ได้ เช่น เมื่อวัยรุ่น (พูดอย่างโกรธๆ ว่า) “ครูไม่เข้าใจผมหรอก”ครู (ใช้เทคนิคการสะท้อนความรู้สึก) ว่า “…….คงรู้สึกหมดหวังที่จะมีใครเข้าใจปัญหานี้”
๑๑. ถามความคิดและสะท้อนความคิด
การสอบถามความคิด เป็นเทคนิคแสดงความสนใจ พยายามเข้าใจ และให้เกียรติความคิดวัยรุ่น
เช่น “เมื่อ….โกรธ เธอคิดจะทำอย่างไรต่อไป” (ถามความคิด) เมื่อวัยรุ่นตอบว่า “ผมอยากกลับไปชกหน้ามัน” ควรพูดต่อไปว่า “เธอโกรธมากจนคิดว่าน่าจะกลับไปชกหน้าเขา” (สะท้อนความรู้สึก และความคิด)
การถามและสะท้อนความรู้สึกและความคิด ได้ประโยชน์มากในการทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าเรา
พยายามเข้าใจ (ความคิด และความรู้สึก) ของเขา เกิดความสัมพันธ์ที่ดี รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน จูงใจให้
เปิดเผยข้อมูล ชักจูงให้เปลี่ยนพฤติกรรมง่ายขึ้น
๑๒. การกระตุ้นให้เล่าเรื่อง (Facilitation)
การกระตุ้นให้เล่าเรื่องราว ทำได้โดยใช้ชุดคำถามที่จูงใจ ตามปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น“ครูทราบเบื้องต้นมาว่า……………… คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นห่วงที่………………”“ที่จริงคุณพ่อคุณแม่เล่าให้ครูฟังบ้างแล้ว แต่ครูอยากฟังจาก……(ชื่อ) เอง ลองเล่าให้ครูฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”“พ่อแม่กังวลว่า…………………………..”
“พ่อแม่อยากจะทำความเข้าใจปัญหามากขึ้น จึงชวน……”“คิดอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไร ยังโกรธพ่อแม่หรือไม่”
การกระตุ้นจะได้ผลมากเมื่อครูแสดงท่าทียอมรับด้วย เช่น“เรื่องใดที่พูดลำบาก หรืออธิบายไม่ได้ ขอให้บอกครูด้วย”“ใครๆ ที่อยู่ในสภาพเดียวกับ…… คงจะทำใจยอมรับได้ลำบากเหมือนกัน”“บางทีมันก็ยากที่จะเล่าเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัวอย่างนี้ เอาไว้พร้อมแล้วค่อยเล่าทีหลังก็ได้”“เรื่องไหนที่ยังไม่พร้อมจะคุย ขอให้บอกหมอ”
“มีอะไรที่ทำให้รู้สึกหนักใจ กังวลใจ หงุดหงิดใจ”“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในบ้าน”
“อยากให้พ่อแม่เป็นอย่างไร”“ปัญหาอื่นๆ ในบ้านละ มีอะไรหนักใจหรือไม่”“วางแผนไว้อย่างไรบ้าง ระยะสั้น ระยะยาว”“อยากให้พ่อแม่เปลี่ยนแปลง แก้ไขอะไรบ้าง”ในตอนท้าย ลองสำรวจในเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ความสัมพันธ์กับน้องหรือญาติคนอื่นๆ
๑๓. ใช้ภาษากาย
สีหน้า แววตา ท่าทาง ของผู้ใหญ่จะสื่อให้วัยรุ่นรู้สึกได้ดีกว่าคำพูด ทำให้เกิดความเป็นกันเอง
อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด หรือแสดงการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือสิ่งที่วัยรุ่น
เปิดเผย เวลาคุยกับวัยรุ่นไม่ควรนั่งกอดอก ซึ่งแสดงท่าทางปิด ไม่ยอมรับ สายตาควรจับที่ใบหน้า
เคลื่อนไหวไปมาระหว่างตาและปาก พยักหน้ายอมรับตามจังหวะเหมาะสม เมื่อเห็นด้วย ยอมรับ ยิ้ม
แสดงท่าชื่นชมในสิ่งที่ดี ปิดโทรศัพท์มือถือ หยุดการทำงานทุกอย่างระหว่างพูดคุย สัมผัสที่แขนใน
จังหวะที่แสดงความเข้าใจ เห็นใจ แต่ระวังการแตะเนื้อต้องตัวระหว่างเพศตรงข้าม
๑๔. แสดงท่าทีเป็นกลางต่อพฤติกรรมเสี่ยงวัยรุ่น
การแสดงความเห็นที่เป็นกลาง แสดงความเข้าใจพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ของวัยรุ่น ช่วยให้วัยรุ่น
เปิดเผยมากขึ้น แสดงโดยใช้ประโยคต่อไปนี้“ความสนใจเรื่องเพศในวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ……มีความสนใจเรื่องนี้บ้างไหม”“วัยนี้บางคนเขามีแฟนกัน ….สนใจใครบ้างไหม”“วัยรุ่นบางคนมีเพื่อนใช้ยาเสพติด และอาจชักชวน …….เคยเห็นบ้างไหม เคยลองบ้างไหม”
๑๕. ชมบนหลังคา ด่าที่ใต้ถุน
เมื่อมีพฤติกรรมดี ผู้ใหญ่ควรชม ให้เกิดความภาคภูมิใจตนเอง ถ้ามีโอกาสควรชมต่อหน้าผู้อื่น
หรือให้ผู้อื่นร่วมชื่นชมด้วย เมื่อชมแล้ว อาจเสริมให้เด็กรู้สึกดีต่อตนเอง ชื่นชมตัวเอง ต่อไปวัยรุ่นไม่ต้อง
รอให้คนอื่นเห็นความดีของตน หรือรอให้คนอื่นชม ดังตัวอย่างนี้“ครูดีใจมากที่เธอช่วยเหลือเพื่อน เธอคงรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำเช่นนั้น ใช่ไหม”“พวกเราภูมิใจที่เธอได้รางวัลครั้งนี้ ช่วยกันตบมือให้หน่อย เธอคงภูมิใจในตัวเองเหมือนกันใช่ไหมจ๊ะ”ในทางตรงกันข้าม เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่ดี ครูควรมีเทคนิคในการตักเตือน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่เวลาเตือน อย่าให้เกิดความรู้สึกอับอาย ให้นักเรียนค่อยๆ คิด และยอมรับด้วยตัวเองอย่าให้เสียหน้า การเตือนเรื่องที่น่าอับอายควรเตือนเป็นการส่วนตัว ก่อนจะเตือน ควรหาข้อดีของเขาบางอย่าง ชมตรงจุดนั้นก่อน แล้วค่อยเตือนตรงพฤติกรรมนั้น เช่น“ครูรู้ว่าเธอเป็นคนฉลาด แต่ครูไม่เห็นด้วยกับการที่เธอเอาของเพื่อนไปโดยไม่บอก” (ใช้ I – message ร่วมด้วย)“ครูเห็นแล้วว่าเธอมีความตั้งใจมาก แต่งานนี้เป็นงานกลุ่ม ที่ครูอยากให้ช่วยกันทำทุกคนนะจ๊ะ”
๑๖. ตำหนิที่พฤติกรรม มากกว่า ตัวบุคคล
ถ้าจะตำหนิวัยรุ่น ระวังปฏิกิริยาต่อต้านไม่ยอมรับ ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติโดยกลไกทางจิตใจ
ที่ปกป้องตนเอง เมื่อเริ่มต้นไม่ยอมรับ จะไม่สนใจฟัง ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วยสิ่งที่ผู้ใหญ่บอก (แม้ว่าเรื่องที่พูด
ต่อมาเป็นเรื่องจริง) วิธีการที่ทำให้วัยรุ่นยอมรับ และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง ทำได้ด้วยการตำหนิที่พฤติกรรม แทนการตำหนิที่ตัววัยรุ่น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ “เธอนี่แย่มาก ขี้เกียจจังเลยถึงมาสาย” (ตำหนิวัยรุ่น) เปลี่ยนเป็น “การมาโรงเรียนสาย เป็นสิ่งที่ไม่ดี” (ตำหนิพฤติกรรม)“เธอนี่โง่มากนะ ที่ทำเช่นนั้น” (ตำหนิวัยรุ่น) เปลี่ยนเป็น “การทำเช่นนั้น ไม่ฉลาดเลย” (ตำหนิพฤติกรรม)“เธอนี่เป็นคนเอาเปรียบเพื่อนนะ” (ตำหนิวัยรุ่น) เปลี่ยนเป็น “ครูไม่ชอบการไม่ช่วยเหลืองานกลุ่ม งานนี้ทุกคนต้องช่วยกัน” (ตำหนิพฤติกรรม) ไม่ควรตำหนิด้วยคำพูดว่า เป็นนิสัยไม่ดี หรือสันดานไม่ดี เพราะจะทำให้วัยรุ่นโกรธ ต่อต้านไม่ยอมรับ หรือแกล้งเป็นอย่างนั้นจริงๆไม่ควรตำหนิลามไปถึงพ่อแม่ เช่น “อย่างนี้พ่อแม่ไม่เคยสอน ใช่ไหม” เพราะสร้างความรู้สึกต่อต้านอย่างแรง เป็นอันตรายต่อการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ ไม่ควรตำหนิแล้วลามไปถึงเรื่องอื่นๆ เรื่องในอดีต เรื่องที่ผ่านไปแล้ว เรื่องที่เคยตำหนิไปแล้วไม่ควรตำหนิแล้วคาดหวังว่า วัยรุ่นคงแก้ไขไม่ได้ หมดหวัง ไม่ควรตำหนิแล้วซ้ำเติม ประชดประชัน เสียดสี เช่น “ใช้อะไรคิดเนียะ หัวนะมีหรือเปล่า” “พ่อแม่ให้มาแค่นี้นะ” “เธอไปเกิดใหม่ดีกว่า”ไม่ควรนำไปผูกพันกับเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น “เธอรักพ่อแม่หรือเปล่า ถ้ารักทำไมทำอย่างนี้”ไม่ควรใช้คำพูดหยาบคาย ใช้คำพูดสุภาพ จริงจังแต่นุ่มนวล
๑๗. กระตุ้นให้คิดด้วยตนเอง
ในการฝึกให้วัยรุ่นคิดและแก้ปัญหานั้น ควรฝึกให้คิดเองก่อนเสมอ เมื่อคิดไม่ได้จริงๆ อาจช่วย
ชี้แนะให้ในตอนท้าย เช่น“….คิดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน” (ให้คิดสรุปหาสาเหตุของปัญหา)“แล้ว….จะทำอย่างไรต่อไปดี” (ให้คิดหาทางออก)“ทางออกแบบอื่นละ มีวิธีการอื่นหรือไม่” (ให้หาทางเลือกอื่นๆ ความเป็นไปได้อื่นๆ)“ทำแบบนี้ แล้วคาดว่าผลจะเป็นอย่างไร” (ให้คิดถึงผลที่ตามมา)“เป็นไปได้ไหม ถ้าจะทำแบบนี้….(แนะนำ)…….คิดอย่างไรบ้าง”
๑๘. ประคับประคองอารมณ์ (Emotional Support)
จิตใจ อารมณ์ของวัยรุ่นจะรู้สึกดีขึ้น เมื่อเกิดสิ่งต่อไปนี้ความหวังด้านบวก (hope) เช่น ประโยชน์จากการพูดคุยกัน ความเข้าใจที่ดีขึ้น ความหวังที่มีโอกาสสำเร็จ การช่วยเหลือโดยผู้ใหญ่
การได้ระบายความรู้สึก (ventilation)“บางทีการร้องไห้ หรือได้ระบายความทุกข์ใจไม่สบายใจก็ช่วยให้ใจสบายขึ้น”“ครูอยากให้…..เล่าเรื่องที่อาจไม่สบายใจ แต่อาจทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ดีขึ้น”“ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง คือคุณแม่ไม่ค่อยเข้าใจความต้องการของ…..”“หลายครั้งที่……..ก็ทำอะไรด้วยอารมณ์ แต่ก็มาคิดเสียใจทีหลัง”
การชมเชย (positive reinforcing)“ครูคิดว่าเป็นการดีมาก ที่…อยากจะเข้าใจตัวเอง …….อยากแก้ไขเปลี่ยนแปลง”“ดีนะที่…..มีความสนใจในเรื่องการเรียน”
ความหวังในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น“จากที่เล่ามา คิดว่า อาการต่างๆ เกิดจากอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งรักษาได้ การช่วยเหลือต่อไปคือ…………………”“ความคิดที่วนเวียนนั้น คืออาการของความเครียด ครูคิดว่าน่าจะพบแพทย์…………..”“ความไม่เข้าใจกันภายในบ้านมีมากจนทำให้ทุกคนเครียด ปัญหานี้พ่อน่าจะแก้ไขโดย……………”“ครูคิดว่า การตรวจทดสอบบางอย่างอาจจะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของปัญหามากขึ้น แนะนำว่าน่าจะ……….”“ครูยังไม่ค่อยเข้าใจบางอย่างในบ้าน อยากขอพบคุณพ่อในครั้งต่อไป…….คิดอย่างไร”
๑๙. คาดหวังด้านบวก
ในช่วงท้าย ก่อนจะจบการพูดคุย ผู้ใหญ่ควรแสดงความคาดหวังด้านบวกต่อวัยรุ่น มองเขาในแง่ดี และให้โอกาสเขาคิด ไตร่ตรอง ด้วยตัวเอง“พ่อคาดว่าลูกน่าจะทำได้สำเร็จ”“ลองดูนะ แม่ว่าน่าจะทำได้”“ครูคาดว่าสุดท้าย….จะตัดสินใจได้ถูก”“ลองคิดทบทวนดูก่อนนะ พ่อหวังว่าลูกจะเข้าใจได้ถูกต้อง และเลือกสิ่งที่ดี”
๒๐. สรุปและยุติการสนทนา
การยุติการสื่อสารในตอนท้ายควรสรุปสิ่งที่ได้คุยกัน การวางแผนต่อไปว่าจะทำอะไรตอบคำถาม
ที่วัยรุ่นอาจจะมี กำหนดนัดหมายครั้งต่อไป การยุติการสนทนาได้ดีจะช่วยให้วัยรุ่นร่วมมือในการพบอีก
การสรุปอาจให้วัยรุ่นสรุปเอง แล้วผู้ใหญ่ช่วยเสริม หรือผู้ใหญ่เป็นฝ่ายสรุปทั้งหมดก็ได้
“คุยกันมานานแล้ว ไม่ทราบว่า……อยากจะถามอะไรครูบ้าง”
“ครูดีใจที่….ให้ความร่วมมือดีมาก ครูอยากจะพบเพื่อคุยเรื่องนี้อีก”
“สรุปแล้ววันนี้เราได้คุยอะไรกันบ้าง” (ให้วัยรุ่นสรุป)
“ครูเข้าใจมากทีเดียว วันนี้สรุปว่า…..” (ครูเป็นผู้สรุปเอง)
สรุป การสื่อสารทางบวกเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสำหรับพ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้ให้คำปรึกษาแนะนำวัยรุ่น ในการสร้างความสัมพันธ์ ถ่ายทอดความรู้ ทัศนคติและค่านิยม มีประโยชน์ต่อการ
สอนและพัฒนาวัยรุ่นให้เป็นผู้ใหญ่ที่บุคลิกภาพดี
เข้าถึงกฎหมาย…เข้าใจแม่วัยทีน โดย คุณประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล
ปัญหาการดูแลแม่วัยทีน
- ปกปิดข้อเท็จจริงเกิดปัญหาวินิจฉัยผิดพลาด ทำแท้ง
- ไม่มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบทั้งตนเองและลูก
- ต้องการให้ปกปิดการรักษา
- ความยินยอมหรือผู้ใช้อำนาจปกครอง
- ต้องการให้ช่วยแก้ไขหลักฐานการแจ้งเกิด ชื่อบิดา มารดา
- จงใจทอดทิ้งบุตร
- เป็น Rise case ในการผดุงครรภ์
จรรยาบรรณวิชาชีพ
การพยาบาลเป็นการปฏิบัติโดยตรงต่อบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม นับได้ว่าเป็นบริการในระดับสถาบันของสังคม ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ มีความรู้ความชำนาญในการปฏิบัติ มีจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นแนวทางในการประพฤติและปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของสังคมโดยส่วนรวม
1.จรรยาบรรณวิชาชีพ
จรรยาบรรณวิชาชีพสำหรับพยาบาลเป็นการประมวลหลักความประพฤติให้บุคคลในวิชาชีพยึดถือปฏิบัติ สมาคมพยาบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (The America Nurses Associations A.N.A.) ได้กำหนดสาระสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพพยาบาลไว้ดังนี้
1) พยาบาลพึงให้บริการพยาบาลด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี และความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัด ในเรื่อง สถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ คุณสมบัติเฉพาะกิจหรือสภาพปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้ป่วย
2) พยาบาลพึงเคารพสิทธิส่วนตัวของผู้ป่วยโดยรักษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยไว้เป็นความลับ
3) พยาบาลพึงให้การปกป้องคุ้มครองแก่ผู้ป่วย สังคม ในกรณีที่มีการให้บริการสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย ถูกกระทำการที่อาจเกิดจากความไม่รู้ ขาดศีลธรรม จริยธรรม หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด
4) พยาบาลมีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจและให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วยแต่ละราย
5) พยาบาลพึงดำรงไว้ซึ่งสมรรถนะในการปฏิบัติการพยาบาล
6) พยาบาลพึงตัดสินใจด้วยความรอบคอบถี่ถ้วน ใช้ข้อมูลสมรรถนะและคุณสมบัติอื่นๆ เป็นหลักในการขอคำปรึกษาหารือ ยอมรับในหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึง การมอบหมายกิจกรรมการปฏิบัติการพยาบาลให้ผู้อื่นปฏิบัติ
7) พยาบาลพึงมีส่วนร่วมและสนับสนุนในกิจกรรมการพัฒนาความรู้เชิงวิชาชีพ
8) พยาบาลพึงมีส่วนร่วมและสนับสนุนในการพัฒนาวิชาชีพและส่งเสริมมาตรฐานการปฏิบัติการพยาบาล
9) พยาบาลพึงมีส่วนร่วมในการที่จะกำหนดและดำรงไว้ซึ่งสถานะภาพของการทำงานที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่มีคุณภาพสูง
10) พยาบาลพึงมีส่วนร่วมในการปกป้อง คุ้มครอง สังคม จากการเสนอข้อมูลที่ผิด และดำรงไว้ซึ่งความสามัคคีในวิชาชีพ
11) พยาบาลพึงร่วมมือและเป็นเครือข่ายกับสมาชิกด้านสุขภาพอนามัยและบุคคลอื่นๆในสังคมเพื่อส่งเสริมชุมชนและสนองตอบความต้องการด้านสุขภาพอนามัยของสังคมสำหรับสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้กำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพของสมาคม พ.ศ. 2528 มุ่งเน้นให้พยาบาลได้ประพฤติปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยกำหนดเป็นความรับผิดชอบต่อประชาชน ความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ ต่อผู้ร่วมวิชาชีพและต่อตนเองดังนี้
จรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาลต่อประชาชน
1. ประกอบวิชาชีพด้วยความมีสติ ตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
2. ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเสมอภาคตามสิทธิมนุษยชน โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ ศาสนา และสถานภาพของบุคคล
3. ละเว้นการปฏิบัติที่มีอคติ และการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
4. พึงเก็บรักษาเรื่องส่วนตัวของผู้รับบริการไว้เป็นความลับ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของผู้นั้นหรือเมื่อต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
5. พึงปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการวินิจฉัยและการแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยอย่างเหมาะสมแก่สภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน
6. พึงป้องกันภยันตรายอันจะมีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
จรรยาบรรณวิชาชีพการพยาบาลต่อตนเอง
1. ประพฤติตนและประกอบกิจแห่งวิชาชีพ โดยถูกต้องตามกฎหมาย
2. ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
3. ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในด้านการประกอบกิจแห่งวิชาชีพและส่วนตัว
4. ใฝ่รู้พัฒนาแนวคิดให้กว้าง และยอมรับการเปลี่ยนแปลง
5. ประกอบกิจแห่งวิชาชีพด้วยความเต็มใจ และเต็มกำลังความสามารถ
6. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมีสติ รอบรู้ เชื่อมั่นและมีวิจารณญาณอันรอบคอบ
การคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย
พ.ร.บ.คำนำหน้าหญิง พ.ศ.๒๕๕๑
มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า“นางสาว”
มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า ‘นาง’ หรือ ‘นางสาว’ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า ‘นาง’หรือ ‘นางสาว’ ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา ๖ ชื่อตัวต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
ชื่อรองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งหรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน
คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมของฝ่ายนั้นแล้ว
มาตรา ๑๒ คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตนการตกลงกันตามวรรคหนึ่ง จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ ข้อตกลงตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ได้
การคุ้มครองสิทธิเด็กตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การที่เด็กเกิดจากหญิงซึ่งมิได้สมรสกับชายมีได้หลายกรณี เช่น ชายหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสซึ่งเป็นความสมัครใจของชายและหญิงเอง เมื่อบุตรเกิดขึ้นมาในระหว่างอยู่กินกัน บุตรที่เกิดขึ้นมานั้นถือว่าเป็นเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1546 เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้ให้กำเนิด แต่เด็กที่เกิดมานี้ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีเพราะชายและหญิงมิได้มีการจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายก่อนเด็กเกิด แม้ชายและหญิงจะรักใคร่สมัครใจอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยก็ตาม
ไม่ต่างจากเด็กที่เกิดจากหญิงซึ่งไม่ทราบว่าบิดาเด็กคือใครก็ดี หรือชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเด็กไม่ยอมรับว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตนก็ดี เด็กที่เกิดมานั้นถือว่าเป็นเด็กเกิดจากหญิงซึ่งมิได้สมรสกับชาย ตามป.พ.พ.มาตรา 1546 เช่นกัน เด็กที่เกิดมานั้นถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้ให้กำเนิดทั้งสิ้น ดังนั้น เด็กที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของชายและหญิงเด็กที่เกิดมานั้นย่อมได้รับความคุ้มครองตามป.พ.พ. มาตรา 1564 คือ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
อย่างไรก็ดี คำว่า “บิดามารดา” ในที่นี้หมายถึงเฉพาะ บิดามารดาที่กฎหมายถือว่าเป็นบิดามารดาชอบด้วยกฎหมายของบุตรเท่านั้น ดังนั้น เมื่อสภาพความเป็นจริงเด็กต้องเกิดจากหญิงทั้งสิ้น หญิงผู้ให้กำเนิดจึงถูกกฎหมายบังคับให้มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ทุกคน หากหญิงใดละเลยหน้าที่นี้ กฎหมายก็ให้สิทธิแก่เด็กในอันที่จะเรียกร้องได้
แต่โดยหลักแล้วเด็กจะเป็นผู้ฟ้องบิดามารดาของตนเองโดยตรงไม่ได้ เพราะ ป.พ.พ.มาตรา 1563 บัญญัติห้ามไว้ว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติของผู้นั้นร้องขออัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ หมายความว่า เด็กที่ยังไร้เดียงสาอยู่ญาติของเด็ก เช่น ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็สามารถร้องขอต่อพนักงานอัยการซึ่งถือว่าเป็นทนายของแผ่นดินฟ้องเรียกร้องให้หญิงผู้ให้กำเนิดรับผิดชอบต่อหน้าที่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1564ได้นั่นเอง
ส่วนฝ่ายชายผู้เป็นบิดานั้น โดยสภาพเด็กไม่อาจเกิดจากชายได้ กฎหมายจึงมิอาจบังคับชายในทันทีว่าให้เด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายได้แต่กฎหมายก็ให้ความคุ้มครองเด็กในลักษณะที่เป็นข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย ชายจึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าใช่หรือไม่ใช่บุตรของตนอย่างไร ตามกระบวนการยุติธรรม
บทสันนิษฐานนี้แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ชายหญิงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 1536 ซึ่งบัญญัติว่าเด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชาย หรือภายใน 310 วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี หมายความว่า ถ้าชายหญิงจดทะเบียนสามรสกันถูกต้องตามกฎหมายเด็กเกิดมาในระหว่างนั้นกรณีหนึ่ง หรือเมื่อจดทะเบียนหย่าขาดจากกันแล้วเด็กเกิดมาภายใน 310 วัน นับจากวันที่จดทะเบียนหย่าขาดกันแล้วอีกกรณีหนึ่ง ทั้งสองกรณีดังกล่าวถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่าเด็กเกิดมาในช่วงนั้นกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามี
สายใยในครอบครัว ด้วยนมแม่ โดย ผศ.ดร.นิตยา สินสุกใส
“นมมารดา”เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด สำหรับคุณแม่ จำเป็นต้องมีการบีบน้ำนมออกจากเต้าทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อส่งผลต่อการเพิ่มการผลิตน้ำนมและป้องกันและแก้ไขเต้านมคัด โดยปกติ ปริมาณน้ำนมที่ผลิตจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมที่หลั่งออกจากเต้า มารดาบางคนมีปัญหาในการบีบน้ำนม แต่ทารกไม่มีปัญหาได้รับน้ำนมไม่พอเพราะปริมาณน้ำนมที่บีบได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมที่ผลิต จึงไม่อาจใช้ปริมาณน้ำนมที่บีบได้เพียงอย่างเดียวเพื่อบอกว่ามารดามีน้ำนมเพียงพอหรือไม่
เคล็ดลับบีบน้ำนมจากเต้า
1. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด
2. นั่งให้สบายในที่ที่สงบ เพราะความสบายใจจะช่วยให้น้ำนมหลั่งมากขึ้น
3. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมประมาณ 3-5 นาทีก่อนบีบเพื่อให้รู้สึกสบาย และลดการคัดเต้านม
4. นวดรอบ ๆ เต้านมและใช้นิ้วมือเขี่ยเต้านมเบา ๆ จากขอบนอกของเต้านมสู่หัวนมเพื่อให้รู้สึกสบาย5. กระตุ้นหัวนมโดยใช้นิ้วมือดึงและคลึงหัวนม
6. วางหัวแม่มือไว้ที่ลานขอบหัวนม และนิ้วมืออีก 4 นิ้วไว้ใต้เต้านมที่ขอบลานหัวนม
7. กดนิ้วเข้าหากระดูกทรวงอก แล้วบีบนิ้วหัวแม่มือและนิ้วทั้ง 4 เข้าหากันโดยเคลื่อนหัวแม่มือมาทางด้านหน้าเล็กน้อยแต่ไม่เลยขอบลานหัวนม 8. คลายนิ้วที่บีบ ให้ตำแหน่งวางนิ้วมืออยู่ที่เดิม บีบเป็นจังหวะย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วมือรอบ ๆ เต้านมเพื่อบีบน้ำนมออกให้หมดทุกแห่ง
9. บีบน้ำนมใส่ภาชนะไร้เชื้อที่เป็นแก้วหรือพลาสติกแข็ง
10. เปลี่ยนไปบีบที่อีกเต้านมทุก 5 นาที หรือเมื่อน้ำนมเริ่มไหลช้า เพื่อให้น้ำนมหลั่งออกจากเต้านมทั้ง 2 ข้าง เมื่อบีบน้ำนมเสร็จให้หยดน้ำนมลงบนหัวนม 2-3 หยด แล้วปล่อยให้แห้ง เพื่อป้องกันหัวนมเป็นแผล
** ข้อ 3-5 อาจไม่จำเป็นต้องปฏิบัติหากไม่มีปัญหาเต้านมคัด**
เก็บน้ำนมอย่างไรได้คุณค่าเหมือนเดิม
• ต้องบีบลงภาชนะไร้เชื้อที่เป็นแก้วหรือพลาสติกเท่านั้น
• น้ำนมที่เก็บในภาชนะควรเท่ากับปริมาณที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อ
• ปิดฝาภาชนะให้สนิททันทีที่บีบน้ำนมเสร็จ พร้อมเขียนวัน เวลา และปริมาณนมที่ข้างภาชนะ
• เก็บไว้บนช่องแช่แข็ง อย่าวางที่ประตูตู้เย็น
เตรียมน้ำนมเสร็จแล้ว ถึงเวลาป้อนให้เจ้าตัวน้อย และภาชนะที่เหมาะที่สุดก็คือ “ถ้วย”ทำไมต้องป้อนด้วยถ้วยก็เพราะ
1. ทารกจะได้ฝึกการใช้ลิ้นและริมฝีปาก
2. ทารกสามารถกำหนดความเร็วของการให้นมและปริมาณน้ำนมด้วยตนเอง
3. ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างการดูด/ซด/กลืน รวมทั้งการหายใจ
4. หลีกเลี่ยงการสับสนระหว่างหัวนมกับจุกนม
5. ลดการปนเปื้อนจุลินทรีย์เพราะถ้วยทำความสะอาดง่ายกว่าขวดนม
วิธีป้อนนมด้วยถ้วย
1. ห่อทารกให้แน่นหนาเพราะทารกอาจดิ้นและปัดถูกถ้วย
2. ประคองทารกให้อยู่ในท่านั่งตัวตรง หรือกึ่งนั่งกึ่งนอนบนตักผู้ป้อน
3. ให้มีปริมาณน้ำนมอย่างน้อยครึ่งแก้วตลอดเวลาที่ป้อน (หากสามารถทำได้)
4. วางปากถ้วยบนริมฝีปากล่าง เอียงถ้วยให้นมสัมผัสปากทารก ห้ามเทน้ำนมเข้าปากทารกเด็ดขาด
ข้อควรระวัง ต้องวางถ้วยให้อยู่ในตำแหน่งเดิมตลอดเวลาของการป้อนทารกจะเจริญเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการทางสมอง ต้องอาศัยคุณแม่ดูแลตั้งแต่แบเบาะ และอย่าลืมว่าการให้นมลูกด้วยตัวเองนอกจากเราจะดูแลเรื่องความสะอาด ปลอดภัยแล้ว คุณแม่และทารกยังได้ประสานสายตาส่งความรักถึงกันและกันตามประสาแม่ลูกได้เป็นอย่างดี
วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗
Motivational counseling for reducing subsequent births to adolescent mother โดย นายแพทย์ เทิดศักดิ์ เดชคง
Motivational Counselingการให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ
ความหมาย : การให้คำปรึกษาแบบเน้นการสร้างแรงจูงใจ
: การช่วยเหลือ Cl โดยใช้ การสื่อสารสองทาง
เพื่อ สร้างแรงจูงใจ และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ส่งเสริมสนับสนุนการมีพฤติกรรมสุขภาพ
: พฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การออกกำลังกายการมาตรวจตามนัด การรับประทานยาต่อเนื่อง การงดสุรา/สารเสพติด เรียนหนังสือ ฯลฯ
MC.;Motivational Counseling การให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ
MBA.;Motivational Brief Advice การให้คำแนะนำแบบสั้น ๕-๑๐ นาที
MBI.;Motivational Brief Intervention การให้คำปรึกษาแบบสั้น ๒๐-๓๐ นาที
MBC.;Brief Counseling การให้คำปรึกษาระยะสั้น 40-60 นาที หลายครั้ง
องค์ประกอบที่จำเป็นในการให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ
1. แสดงความเห็นใจ Express empathy
2. ชี้ให้เห็นความขัดแย้งในตนเอง Develop Discrepancy
3. แนะนำ แบบมีทางเลือก Advice with menu
4. ไม่เถียงด้วย Avoid argumentation
5. กลิ้งไปกับแรงต้าน Roll with Resistance
6. สนับสนุนความมั่นใจในตนเอง Increase self – efficacy
ทักษะการสนทนา สนทนาด้วยกุหลาบ Micro Skills (OARES) (A ROSE)
๑. ถาม Open Ended Question ถาม Open Questions? ช่วยค้นหาข้อมูลช่วยกระตุ้นแรงจูงใจ เช่น
อะไรทำให้คุณอยากเสพยาบ้าน้อยลงคุณเสพมานานแล้วแต่เพราะอะไรทำให้คุณอยากเลิกในวันนี้ มีสิ่งใดที่สำคัญต่อคุณมากๆ?
๒. ชื่นชม Affirm the Cl 1 การตัดสินใจ “ผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจออกกำลังกายของคุณ” “สุขภาพดีขึ้นไม่เหนื่อยง่ายเพราะช่วงนี้คุณกินยาต่อเนื่อง”2 ความรู้สึก เช่น“คุณทำสิ่งที่ลูกชื่นชมยกย่อง”3 พฤติกรรมโดยเฉพาะความพยายาม เช่น“คุณมีความตั้งใจเหมือนกันเพราะผมทราบมาว่าคุณมาไกล”
๓. สะท้อน Reflect What the person says 1 ปัญหาที่ประสบ/นำมาเช่น “คุณบอกว่าอาจมีปัญหากับหัวหน้า”2 ผู้คนที่ผลักดันเขาอยู่ เช่น“ทำไมเพื่อนคนนี้ถึงอุตส่าห์พาคุณมา”3 สิ่งที่ Concern เช่น“คุณรู้สึกกลัวเพราะเพื่อนป่วยหนัก”4 อนาคตที่ต้องการเช่น“ทำไมคุณถึงเป็นห่วงอนาคต”
๔. สนับสนุนกำลังใจ (Encourage) การให้กำลังใจ เป็นทักษะที่ใช้กับปัญหาทางด้านจิตใจ โดยช่วยให้ผู้รับการปรึกษาสามารถมองเห็นด้านที่เป็นบวกของตนเองและสถานการณ์ซึ่งจะทำให้ผู้รับการปรึกษา มีความมั่นใจ มีความคาดหวังและส่งเสริมความพยายามแก้ไขปัญหา การให้กำลังใจนี้ต้องอิงอยู่บนศักยภาพของผู้รับการปรึกษาด้วย
วัตถุประสงค์ของการใช้ทักษะการให้กำลังใจ
1. เพื่อกระตุ้นให้ Cl ได้รู้ว่ามีคนเข้าใจเขาไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง
2. ช่วยให้ Cl รู้ว่าตนเองมีศักยภาพ มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม
3. ช่วยลดความรู้สึกท้อแท้ของ Cl
๕. สรุป (Summarize Perspectives on Change) สรุปอะไรบ้าง? สรุปปัญหา สรุปสาเหตุหรือสิ่งจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง หากมีแผนการแล้วก็สามารถสรุปแผนได้ อาจถามให้ผู้รับการปรึกษาช่วยสรุปก็ได้
ช่วงบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มย่อย
แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ ฝึกการใช้เทคนิคการให้คำปรึกษาแบบเน้นการสร้างแรงจูงใจ (ลักษณะเนื้อหาตามการให้คำปรึกษาในเนื้อหาข้างต้น)
กลุ่มที่ ๒ เตรียมแม่วัยทีน…คลอดอย่างฟิน ฟิน
การคลอดบุตรเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เด็ก ถุงเยื่อหุ้มเด็ก และรกถูกขับดันผ่านทางช่องคลอด ออกมาภายนอก โดยอาศัยแรงหดรัดตัวของมดลูก และแรงเบ่งของแม่ การคลอดบุตรไม่ถือว่าเป็นการเจ็บป่วย
การคลอดมี 2 วิธี
1. การคลอดปกติ มีลักษณะ ดังนี้ อายุครรภ์ครบกำหนด 37 – 42 สัปดาห์ เอาศีรษะเป็นส่วนนำในการคลอด การคลอดดำเนินไปตามการคลอด ใช้เวลาไม่เกิน 24 ชม.ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ตลอดการคลอด ได้แก่ ตกเลือดก่อนคลอด การคลอดยาวนาน ตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น
2. การคลอดผิดปกติ หมายถึงการทำให้การคลอดสิ้นสุดลงโยการได้รับความช่วยเหลือ เช่น การใช้คีม เครื่องดูดสุญญากาศช่วยคลอด หรือ การผ่าท้องคลอด
ประโยชน์จากการเตรียมตัวคลอด
สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในทุกระยะของการคลอดมีประสบการณ์ร่วมกับสามี ในการเตรียมตัวเป็นคุณแม่และคุณพ่อ รวมทั้งเพิ่มพูนความรักความเข้าใจซึ่งกันและกันลดความต้องการใช้ยาระงับปวดในระยะคลอดระยะคลอดสั้นลงรวมทั้งมีอันตรายและภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดลดลงได้รับประสบการณ์ที่ดีในการคลอด ช่วยให้คุณแม่ คุณพ่อ และลูกน้อยสร้างความรักความผูกพันได้รวดเร็วหลังการคลอด
ทราบได้อย่างไรว่าใกล้คลอด ?
เมื่อมาฝากครรภ์คุณแม่จะได้รับแจ้งเกี่ยวกับกำหนดวันคลอดซึ่งอาจคลาดเคลื่อนจากกำหนดจริง ประมาณ 2 สัปดาห์ และอาจมีอาการแสดงว่าใกล้คลอดล่วงหน้า ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้เอง คือ
1. ท้องลดและปัสสาวะบ่อยสาเหตุเกิดจากส่วนนำหรือศีรษะของลูกน้อยเคลื่อนลงสู่ช่องเชิงกราน คุณแม่จะรู้สึกว่าหายใจสะดวกขึ้น แต่กระเพาะปัสสาวะจะถูกกดเบียดทำให้ความจุน้อยลง คุณแม่จึงเกิดความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น
2. อาการเจ็บครรภ์เตือน ในระยะใกล้คลอด มดลูกจะมีการหดรัดตัวจนคุณแม่รู้สึกได้แต่ในระยะแรกๆจะไม่รุนแรง และไม่สม่ำเสมอ อาการนี้จะหายไปเมื่อทำกิจกรรมอื่น
คุณแม่ควรมาคลอดเมื่อไร ?
แม้ว่ายังไม่ถึงกำหนดคลอดก็ตาม แต่เมื่อใดที่คุณแม่มีอาการเหล่านี้ ควรเตรียมตัวมาคลอดทันที
1. มีอาการเจ็บครรภ์จริงปวดบริเวณหลังหรือบั้นเอว ร้าวมาทางหน้าท้อง และลงไปถึงต้นขา ขณะที่มีการหดรัดตัวของมดลูกมดลูกหดรัดตัวสม่ำเสมอ ถี่ขึ้น ยาวนานขึ้นและแรงขึ้น แม้ว่าจะเปลี่ยนท่าทาง นอนพัก ลุกเดินหรือทำงาน อาการดังกล่าวก็ยังคงอยู่และเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในระยะแรกอาจหดรัดตัวทุก 30 นาที นาน 10-15 วินาที ในระยะต่อมาหดรัดตัวถี่ขึ้นเป็นทุก 10 – 15 นาที นาน 20 – 30 วินาที เป็นต้น
2. มีมูกหรือมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด เนื่องจากปากมดลูกเริ่มมีการเปิดขยาย
3. มีน้ำคร่ำไหลออกมาทางช่องคลอด ที่เรียกว่า “น้ำเดิน “เนื่องจากถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่ว
ข้อควรปฏิบัติสำหรับคุณแม่เมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะคลอด
จดจำเวลาเริ่มเจ็บครรภ์จริง มีมูกหรือมูกเลือดออก และเวลาที่น้ำเดินสังเกตลักษณะและจำนวนน้ำคร่ำความสะอาดร่างกาย(อาบน้ำและสระผม) เตรียมบัตรประจำตัวผู้รับบริการ สมุดฝากครรภ์และของเครื่องใช้ที่จำเป็นมาโรงพยาบาลทั้งของมารดาและลูกน้อย งดน้ำและอาหารถ้ามารดาเคยได้รับ การผ่าท้องคลอด
การเตรียมตัวเพื่อการคลอด
1. การหายใจ
ประโยชน์ การหายใจที่ถูกต้อง จะช่วยให้ปอดของคุณแม่มีความจุเพิ่มขึ้น เพราะขณะหายใจเข้ากระบังลมจะถูกยกขึ้น ทำให้การเปลี่ยนอากาศเป็นไปด้วยดี และร่างกายได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ นอกจากนั้นยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของคุณแม่จากความไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นในระยะคลอดด้วย วิธีการหายใจที่นิยมใช้มี 4 วิธี ซึ่งจะต้องเลือกใช้ให้สัมพันธ์กับความถี่ ระยะเวลา และความแรงของการหดรัดตัวของมดลูก รวมทั้งระดับความเจ็บปวด ก่อนใช้และหลังใช้วิธีการหายใจ คุณแม่จะต้อง หายใจล้างปอด ทุกครั้ง โดยสูดลมหายใจเข้าช้าๆทางจมูก ให้เต็มปอด แล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออกทางปาก
2. การลูบหน้าท้อง ใช้ในขณะรู้สึกท้องแข็งตึงหรือมดลูกหดรัดตัวจะช่วยให้ผู้คลอดรู้สึกสบายขึ้น และยังเป็นการสื่อความรู้สึกจากแม่สู่ลูกในครรภ์ด้วย มี 2 แบบ คือ
แบบใช้สองมือ โดยผู้คลอดวางอุ้งมือทั้ง 2 ข้างเป็นรูปตัว V เหนือหัวเน่าให้ปลายนิ้วกลางชนกันตรงกึ่งกลางหัวเหน่า จากนั้นค่อยๆลูบมือขึ้นมาทางด้านข้างของหน้าท้องเหมือนประคองหน้าท้องไว้ในอุ้งมือ เมื่อนิ้วหัวแม่มือมาชนกันตรงกลางบริเวณลิ้นปี่ให้ลูบลงในแนวดิ่งจนถึงเหนือหัวเหน่า แล้วแยกออกเป็นรูปตัว V แล้วลูบกลับเช่นเดิม โดยหายใจเข้าขณะลูบมือขึ้น และหายใจออกขณะลูบมือลง ทำช้าๆ
แบบใช้มือเดียว โดยผู้คลอดวางมือข้างหนึ่งบนหน้าท้อง แล้วลูบวนตามเข็มนาฬิกา
3. การนวด (Massage) การนวดมี 3 วิธี ผู้สนับสนุนปฏิบัติในระยะเจ็บครรภ์ถี่ ขณะมดลูกหดรัดตัว ดังนี้
1. นวดเป็นรูปวงกลมรอบก้นกบ โดยทั่วไปผู้คลอดนอนตะแคง ผู้นวดนวดลึก ๆ เป็นวงกลมที่บริเวณกระดูกก้นกบขณะมดลูกมีการหดรัดตัว น้ำหนักมือที่กดให้คงที่สม่ำเสมอ
2. นวดเป็นรูปเลขแปดโดยผู้นวดกำมือและกางนิ้วหัวแม่มือออก วางด้านส้นมือลงบริเวณส่วนล่างสุดของหลัง กดน้ำหนักมือค่อนข้างแรงวงมือเป็นรูปเลขแปดเล็กๆ และค่อยๆ เบาแรงกดเมื่อวงมือเป็นรูปเลขแปดวงใหญ่
3. การใช้กำปั้นนวดบริเวณกระเบนเหน็บหรือหลังโดยผู้นวดกำมือทั้งสองข้าง นวดโดยกดน้ำหนักมือตามแนวขวางของหลังส่วนล่างบริเวณกระเบนเหน็บ
กลุ่มที่ ๒ เรื่องเทคนิคพิชิตนมแม่ เป็นการฝึกปฎิบัติเกี่ยวกับท่าต่างๆของการให้นมแม่ เพื่อให้มารดาเกิดความมั่นใจ
สรุปเนื้อหาจากการเรียนรู้ด้านใด
วิชาการ
ความรู้ที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานของตนเอง
ด้านการนำผลการพัฒนาไปประยุกต์ใช้กับงาน
- พัฒนาการเรียนการสอนภาคทฤษฎี ในรายวิชาการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ หัวข้อ การใช้กระบวนการพยาบาลสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น ครอบคลุมระยะของการตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด และในรายวิชาเพศศึกษากับครอบครัว
- พัฒนาการเรียนการสอนภาคปฏิบัติในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ ๑ และ ๒ ทั้งในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
- ด้านบริการวิชาการ นำความรู้ไปใช้ในการจัดทำโครงการบริการวิชาการในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อการคลอด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น
- ด้านการวิจัย นำความรู้ไปใช้ในการทำวิจัยเรื่องประสิทธิผลของการการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อการคลอด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น
- ด้านการดูแลนักศึกษาในครอบครัวเสมือน นำความรู้เกี่ยวการให้คำปรึกษาไปใช้กับนักศึกษาในครอบครัวที่มีปัญหาด้านต่างๆ
ด้านการนำผลการพัฒนาไปใช้ประโยชน์
การเรียนการสอน
การบริการวิชาการ
การวิจัยและ/ผลงานทางวิชาการ
การพัฒนานักศึกษา
ด้านสมรรถนะ
พัฒนาความรู้ให้ทันสมัย เพื่อเป็นแนวทางในการนำความรู้ไปใช้ด้านการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม
(439)