แบบฟอร์มสำหรับส่งบทความเข้าคลังความรู้
วันที่บันทึก : 19 กรกฎาคม 2556
ผู้บันทึก : นางสาวภาวดี เหมทานนท์
กลุ่มงาน : การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช สังกัดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
ประเภทการปฏิบัติงาน : อบรม
วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2556
หน่วยงาน/สถาบันที่จัด : สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย
สถานที่จัด :
เรื่อง การจัดการและการดูแลผู้สูงอายุ ที่มีโรคหลอดเลือดสมอง
รายละเอียด
แนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
1) การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในระดับปฐมภูมิ (Primary prevention) หมายถึง การป้องกันการเกิดและการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยการส่งเสริมสุขภาพเพื่อคงไว้ซึ่งการมีสุขภาพดีให้นานที่สุดเท่าที่สุขภาพพื้นฐานของผู้สูงอายุแต่ละคนทำได้
2) การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในระดับทุติยภูมิ (Secondary prevention) หมายถึงการป้องกันการลุกลามของพยาธิสภาพหลังการเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้นแล้ว โดยการตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาและให้การดูแลรักษาพยาธิสภาพดังกล่าวตั้งแต่ในระยะแรก ให้หมดไปหรือสามารถควบคุมได้ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างเช่น การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุที่เกิด Transient ischemic attack (TIA) หรือป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ (Recurrent stroke ….ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกต่างจากโรคอื่น) ในกรณีที่เคยมีโรคหลอดเลือดสมองแล้ว
3) การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในระดับตติยภูมิ (Tertiary prevention) หมายถึง การป้องกันความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้สูงอายุเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้นแล้ว ตลอดจนการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย เช่น การดูแลรักษาในระยะเฉียบพลัน การดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการสูญเสียความสามารถในการเดิน เพื่อคงไว้ซึ่งการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
คำแนะนำในการดูแลปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
1) พันธุกรรมและประวัติโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัว
– ซักประวัติครอบครัว จะช่วยค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
– ไม่แนะนำการตรวจคัดกรองพันธุกรรมในประชากรทั่วไปเพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองครั้งแรก
– การส่งต่อผู้ป่วยเพื่อให้คำปรึกษาทางพันธุกรรมอาจพิจารณาทำในผู้ป่วยที่มีโรคพันธุกรรมบางชนิดที่พบน้อยมาก
– ไม่แนะนำให้ตรวจหาหลอดเลือดโป่งพองในสมอง (Intracranial aneurysm) ในญาติสายตรงของผู้ป่วยที่มีเลือดออกภายใต้เยื่ออะแรคนอยด์ (Subarachnoid hemorrhage) หรือหลอดเลือดโป่งพองในสมอง (Intracranial aneurysm) ยกเว้นในกรณีต่อไปนี้ที่อาจพิจารณาตรวจหา ได้แก่ มีญาติสายตรงอย่างน้อย 2 คนที่มีเลือดออกภายใต้เยื่ออะแรคนอยด์ หรือหลอดเลือดโป่งพองในสมอง ผู้ป่วย Adult polycystic kidney disease (ADPKD) ที่มีญาติอย่างน้อย 1 คน ที่มี ADPKD และเลือดออกภายใต้เยื่ออะแรคนอยด์ หรือหลอดเลือดโป่งพองในสมอง
2) ความดันโลหิตสูง
– ควรมีการตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูงเป็นระยะตามเกณฑ์แนะนำ และให้การรักษาที่เหมาะสม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม
– การลดความดันเลือดสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ ผู้ป่วยที่เคยเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือ TIA มาก่อน การลดความดันเลือดสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำทั้งในผู้ที่มีความดันเลือดปกติและมีโรคความดันเลือดสูง ผลของยาลดความดันเลือดในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากเกิดจากระดับความดันเลือดที่ลดลงแล้ว ยังอาจเกิดผลด้านอื่นๆของยาอีกด้วย
– ในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงกว่า 130/80 มม.ปรอท ควรปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิต ได้แก่ การลดน้ำหนักที่มากเกิน การลดอาหารเค็ม การรับประทานผักและผลไม้ การลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง การออกกำลังกาย เป็นต้น ถ้าความดันเกิน 140/90 มม.ปรอท หรือ ๑๓๐/85 มม.ปรอท ในรายที่มีหารบกพร่องของการทำงานของไตหรือหัวใจวาย หรือ 130/80 มม.ปรอท ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวานแล้วไม่สามารถคุมความดันเลือดโดยการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิต ได้ภายใน 6 – 12 เดือน ควรพิจารณารักษาด้วยยา
– การใช้ยาลดความดันเลือด ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่ายาประเภทใดดีกว่ายาชนิดอื่นๆ แต่มีแนวโน้มว่าการใช้ยาขับปัสสาวะ หรือยาขับปัสสาวะร่วมกับ Angiotensin converting enzyme inhibitor (ACEI) ได้ประโยชน์ในการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายมากกว่า ว่ามีข้อบ่งชี้ต่างๆที่เหมาะสมกับยาใดมากกว่า เช่น มีการทำงานของไตบกพร่อง โรคหัวใจหรือเบาหวานร่วมด้วย ในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าผู้ป่วยมีความดันเลือดสูงอาจพิจารณาใช้ ACEI จะได้ผลป้องกันโรคหลอดเลือดสมองดีกว่ายาขับปัสสาวะ ยา Losartan ได้ผลดีกว่า Atenolol แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความดันเลือดปกติ การใช้ยา Ramipril และการใช้ Perindopril ร่วมกับ Indapamide ได้ผลดีกว่ายาหลอก
3) โรคเบาหวาน
– ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานให้ใกล้เคียงปกติ และมีระดับ Hb A1C เท่ากับ 7 กรัมต่อเดซิลิตร หรือน้อยกว่า จะลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากโรคหลอดเลือดเล็กลงได้ และอาจลดภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากโรคหลอดเลือดใหญ่
– ควรควบคุมความดันเลือดในผู้ป่วยเบาหวานให้ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท และควบคุมระดับโคเลสเตอรอลชนิด LDL ให้ต่ำกว่า 70 มก/ดล. จะสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
– การควบคุมความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยเบาหวานด้วยยา ACEI หรือ Angiotensin II receptor blocker (ARB) ได้ประโยชน์
– การให้ Statins ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองครั้งแรกได้
– การให้ Fibrate ในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อาจได้ประโยชน์ในผู้ป่วยเบาหวาน
4) ไขมันในเลือดสูง
– ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือด 1 ข้อหรือไม่มี ควรควบคุมระดับโคเลสเตอรอลชนิด LDL ให้ต่ำกว่า 160 มก./ดล.
– ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไปและมีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่ 10 ปี น้อยกว่าร้อยละ 20 ควรควบคุมให้ต่ำกว่า 130 มก./ดล.
– ถ้าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไปและมีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่ 10 ปี ร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมให้โคเลสเตอรอลชนิด LDL ให้ต่ำกว่า 100 มก./ ดล.
– ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองหรือ TIA ที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือมีหลักฐานของภาวะหลอดเลือดแข็งกระด้าง ควรได้รับการควบคุมไขมันในเลือดตาม NCEP III โดยการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิต การควบคุมอาหารและการใช้ยา เพื่อควบคุมระดับโคเลสเตอรอลชนิด LDL ให้ต่ำกว่า 100มก./ดล. แต่ถ้าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกดโรคโรคหลอดเลือดตีบดังกล่าวข้างต้น ให้ลดลงต่ำกว่า 70 มก./ดล.
5) สูบบุหรี่
– แนะนำให้ไม่สูบบุหรี่ในคนที่เดิมไม่สูบบุหรี่ และงดการสูบบุหรี่ในคนที่สูบเดิม เพราะการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและเลือดออกใต้เยื่อแรคนอยด์
– สำหรับข้อมูลในการได้รับควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อมว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามก็ควรแนะนำให้หลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อม
– ควรซักประวัติการสูบบุหรี่ของผู้ป่วยทุกราย และใช้วิธีการต่างๆในการช่วยให้ผู้ป่วยหยุดบุหรี่ เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำ การใช้สารทดแทนนิโคติน การให้ยาอดบุหรี่ เป็นต้น
การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ภายหลังจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นภาวะสมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเดินและการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาเรื่องการสื่อภาษา การเคี้ยวอาหารและการกลืนอาหาร รวมถึงการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระด้วย ส่งเหล่านี้เป็นปัญหาทางด้านร่างกายที่ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในระยะนี้หากได้รับการประคับประคองจากทีมผู้รักษาที่เข้าใจถึงตัวโรค การดำเนินโรค รวมทั้งกระบวนการฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ย่อมทำให้การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการปรับตัวปรับใจเป็นไปได้อย่างราบเรียบมากขึ้น
ระยะของการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1) ระยะเฉียบพลัน การฟื้นฟูจะเริ่มเมื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีสัญญาณชีพคงที่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคและการไม่ได้เคลื่อนไหว ซึ่งได้แก่ หลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน ปอดอักเสบจากการสำลัก แผลกดทับ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น โปรแกรมที่เหมาะสม คือ การกระตุ้นการเคลื่อนไหวให้เร็วที่สุด โดยคำนึงถึงพยาธิสภาพของโรคหลอดเลือดสมองและสภาวะของระบบประสาท
2) ระยะฟื้นฟู จะเริ่มเมื่อผู้ป่วยมีสภาวะทางอายุรกรรมและระบบประสาทคงที่ มีจุดประสงค์เพื่อฝึกความสามารถในการช่วยเหลือตนเองให้เต็มศักยภาพของผู้ป่วย ควรเริ่มทันทีเมื่อผู้ป่วยพร้อม พบว่าการเริ่มระยะฟื้นฟูภายใน 1 เดือนหลังการเกิดโรค จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้มากกว่าการฟื้นฟูหลัง 1 เดือนไปแล้ว โปรแกรมที่เหมาะสมคือ โปรแกรมการฟื้นฟูแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่ทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อาจจะมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองบกพร่องไปหลายด้าน เช่น การเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน บางรายอาจมีปัญหาเรื่องกลืน การสื่อสาร ร่วมด้วย ในระยะฟื้นฟู ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะได้รับการดูแลโดยทีม สหวิชาชีพแบบองค์รวม ให้ผู้ป่วยมีความสามารถเต็มศักยภาพ ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวสามารถยอมรับได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะดูแลต่อเนื่องได้
3) ระยะกลับบ้าน เริ่มเมื่อผู้ป่วยมีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองตามเป้าหมายที่กำหนด มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมตนเองให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด โปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง คือ การฝึกออกกำลังกายและฝึกความสามารถที่ได้รับฝึกฝนไป เพื่อคงความสามารถนั้นๆไว้ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนโปรแกรมสำหรับครอบครัวนั้น นอกจากความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ทักษะการดูแลที่ถูกต้อง รวมทั้งการเตรียมสิ่งแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วย จะช่วยลดอุปสรรคทางกายในการดำเนินชีวิตที่บ้าน การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ไม่ทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวหรืออยู่กับผู้ดูแลที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ย่อมช่วยประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยให้ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้
ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงาน
การจัดการเรียนการสอน การวิจัย งานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุการใช้ในการปฏิบัติงาน
รู้ที่จะนำไปพัฒนาต่อ
การเรียนการสอนรายวิชาที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ สุขภาพจิตและจิตเวช
การบริการวิชาการ
การพัฒนาบุคลากร
การวิจัยและ/ผลงานทางวิชาการ
ด้านสมรรถนะ
ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ การทำผลงาน (5586)