ผู้บันทึก : นางเกษร ปิ่นทับทิม,นางธมลวรรณ แก้วกระจก และ นางยุพิน ทรัพย์แก้ว | |
กลุ่มงาน : กลุ่มวิชาการพยาบาลและอนามัยชุมชน | |
ฝ่าย : ฝ่ายวิชาการ | |
ประเภทการปฎิบัติงาน : ประชุม | |
เมื่อวันที่ : 9 ก.ย. 2553 ถึงวันที่ : 10 ก.ย. 2553 | |
หน่วยงาน/สถาบันที่จัด : โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช | |
จังหวัด : นครศรีธรรมราช | |
เรื่อง/หลักสูตร : การประชุมวิชาการประจำปี “สมวัย สบายใจ” | |
วันที่บันทึก 15 ก.ย. 2553 | |
|
|
รายละเอียด | |
1. โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ปกติร่างกายของคนเราจะมีการสร้างและทำลายของกระดูกที่สมดุลกัน ถ้าขาดความสมดุลของการสร้างและการทำลายก็จะทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ ภาวะกระดูกพรุนพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะในผู้หญิงจะมีการทำลายกระดูกมากจากระดับฮอร์โมน เพศหญิงลดลง ส่วนในผู้ชายเกิดจากการสร้างกระดูกน้อยโดยเฉพาะในคนที่ดื่มสุรา ในการรักษามีวัตถุประสงค์เพื่อ ป้องกันการเกิดการหักซ้ำของกระดูก ลดโอกาสเสี่ยง พัฒนากระดูก คงความหนาแน่นของมวลกระดูกไว้ ลดปวด ลดความพิการหรือผิดรูป การรักษาได้แก่ 1) ไม่ผ่าตัด ไม่รับประทานยา วิธีนี้ดีที่สุดเพราะเป็นการเข้าใจโรค การป้องกัน / ลดความเสี่ยง ซึ่งได้แก่ การดื่มนมเพื่อเสริมแคลเซี่ยม การรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง (เต้าหู้ทอดเป็นก้อน น้ำเต้าหู้ ปลาทะเลตัวเล็ก เนื้อสัตว์ ธัญพืช ผัก) ดื่มกาแฟไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน ไม่ดื่มสุรา (การดูดซึม แคลเซี่ยมไม่ดี) ออกกำลังกายที่ถูกต้อง ตรวจวัดมวลกระดูก รับแสงแดดบ้าง 2) การรักษาโดยการใช้ยา ควรเลือกใช้ยาที่สร้างมากกว่าทำลายกระดูก ได้แก่ ยา Calcitonin, bisphophonate และ protaxose การให้ฮอร์โมน (parathyroid hormone) และวิตามินเค และดี 2. Alternative medicine ประกอบด้วย การแพทย์แผนจีน ได้แก่ การนวดในผู้ป่วยเรื้อรัง นวด กดจุดบรรเทาอาการอาเจียน การใช้ค้อนเคาะกระตุ้นผิวหนัง อ้ายเขียวใช้บรรจุสมุนไพร และครอบแก้วใช้กระตุ้นจุดลมปราณ การฝังเข็มเพื่อลดอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อ โรคหลอดเลือดสมอง โรคภูมิแพ้ ส่วนการแพทย์แผนไทยได้แก่ การใช้ลูกประคบเพื่อเพิ่มการหมุนเวียนโลหิต ฤษีดัดตน การรับประทานสมุนไพร เช่น ใบบัวบก ฟ้าทะลายโจรเพื่อแก้เจ็บคอ เวลามีไข้ หนาวต้องกินสมุนไพรร้อนๆ สมุนไพรถ้ารับประทานมากเกินไปและต่อเนื่องอาจมีผลต่อตับได้ 3. Neuropathic pain เป็นการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบการรับรู้ ความรู้สึกของเส้นประสาท โดยมีสาเหตุมาจาก การบาดเจ็บ โรคทางเมตาบอลิซึม (เบาหวาน) การติดเชื้องูสวัด HIV และมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งความปวดจะทำให้คุณภาพชีวิตถดถอย ส่วนการวินิจฉัยพบว่า ลักษณะการปวดจะเป็นแบบเข็มทิ่มๆแทงๆ หรือพบว่าโรคได้หายไปแล้วแต่มาปวดทีหลัง การรักษาเน้นที่การลดอาการปวดให้มากที่สุด อยู่กับมันให้ได้ เพิ่มประสิทธิภาพความเป็นอยู่ นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม และการระงับปวดนั้นมีหลายวิธี เช่น การใช้ยา ได้แก่ ยาต้านการซึมเศร้า การต้านการชัก Opioids ยาทา capsaicin ใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้น การผ่าตัดกรณีเส้นประสาทเสียไป และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ในกรณีเป็นงูสวัดต้องรีบรักษาเพื่อไม่ให้ปวดเรื้อรัง 4. การปวดหลังส่วนล่าง (Low Back Pain) อาการปวดหลังพบได้บ่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกเสื่อม เส้นเอ็นอักเสบ รากประสาทอักเสบ กระดูกหัก ยุบ การรักษาอาการปวดมี 3 ขั้นตอน คือ 1) ลดปวด อักเสบ เกร็ง โดยการรับประทานยาแก้ปวด/อักเสบ/ เกร็ง 2) ไปหานักกายภาพบำบัดให้ดึง ขยำ 3) ไปหาแพทย์ทางเลือกให้ฝังเข็ม หลักในการรักษานั้นเพื่อลดปวด สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ที่สำคัญต้องใช้ยาระงับปวดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ไม่ควรให้ยามากจนทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียน และหลับตลอดเวลา การรักษาอาการปวด สามารถรักษาได้หลายวิธี เช่นการให้ยาลดปวด ซึ่งมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1) Non-opioids ได้แก่ paracetamol, NSAIDs และSelective COX-2 Inhibitors 2) Opioids ได้แก่ Weak opioids (Codeine, Tramadol) และ Strong opioids (Morphine, Fentanyl) 3) Adjuvants ได้แก่ antidepressants และ anticonvulsants นอกจากให้ยาแล้วยังมีการรักษาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ คือ การจัดท่านั่งที่ถูกต้อง โดยการนั่งหลังตรง ขาเหยียบพื้น คอไม่ก้ม เอียงเกินไป เลือกเก้าอี้ที่รองรับหลังได้เต็มที่ ขาเก้าอี้ไม่ใช้ล้อเลื่อน โซฟาต้องไม่นิ่มเกินไป นอกจากนี้ควรมีการบริหารร่างกายโดยการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ ซึ่งท่าบริหารหมอนรองกระดูกเคลื่อน ได้แก่ ท่าแอ่นหลัง ท่าคู้เข่า เหยียดกล้ามเนื้อน่อง ยืดกล้ามเนื้อสะโพก เป็นต้น 5. การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ (Exercise for Aging) การออกกำลังกายทำให้ช่วยชะลอความเสื่อมความสูงวัยได้ การออกกำลังกายอาจอันตรายได้ถ้าไม่ได้ตรวจร่างกายดูก่อน ประโยชน์ของการออกกำลังกาย ทำให้หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น จิตใจ อารมณ์แจ่มใส สบายใจ สมองแจ่มใสความจำดีขึ้น การคัดกรองก่อนการออกกำลังกาย จะมองหาปัญหาสุขภาพที่เป็นข้อจำกัด/ออกแบบชนิดการออกกำลังกายให้เหมาะสม ปกติจะแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม 1) สุขภาพแข็งแรงดี ไม่ต้องตรวจร่างกาย 2) มีความเสี่ยง ควรพบแพทย์ตรวจร่างกาย 3) มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก่อนออกกำลังกาย ควรทำการทดสอบ Senior Fitness Test (SFT) เป็นการทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา ความยืดหยุ่น BMI การทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้แก่ Chiar Stand Test เป็นการทดสอบโดยการลุกนั่งจากเก้าอี้เพื่อดูกำลังขา Arm Curl Test เป็นการทดสอบโดยการหิ้วของ ยกน้ำหนักประมาณ 5 ปอนด์เพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนว่ามีกำลังพอหรือไม่ 6-Minute Walk Test โดยการเดินไกลในเวลา 6 นาที ว่าเดินได้ประมาณกี่หลา เป็นการฝึกความทนว่าเหนื่อยไหม การวัด body mass index (normal ไม่เกิน 23) ข้อมูลของการตรวจสอบที่ได้จะช่วยบอกแนวทางในการออกกำลังกายที่เหมาะสมให้กับ ผู้สูงวัยได้ องค์การอนามัยโลกได้แบ่งคนสูงวัยเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ร่างกาย Fit 2) ร่างกายไม่ Fit 3) ร่างกายไม่ Fit อ่อนปวกเปียก มีโรคประจำตัวมาก หลักในการออกกำลังกายของกลุ่มที่ 1 ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอต่อเนื่อง กลุ่มที่ 2ให้ทำกิจวัตรประจำวันได้ ส่วนกลุ่มที่ 3 เน้นให้ช่วยเหลือตนเองเท่าที่ทำได้ องค์ประกอบของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ คือ ต้องเป็นแบบแอโรบิค เน้นความแข็งแรง ยืดหยุ่น การใช้หน้าที่ของกล้ามเนื้อ และการทรงตัว ก่อนออกกำลังกายควรตรวจว่ามีอาการเจ็บหน้าอก มีโรคประจำตัว มีไข้หรือไม่ถ้ามีควรงด ชนิดของการออกกำลังกาย มีทั้ง Aerobic exercise เป็นการออกกำลังกายใช้กล้ามเนื้อเป็นจังหวะนาน 10 นาทีขึ้นไป Strength Training Exercise เป็นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ Flexible Exercise การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น Balance Training Exercise เป็นการออกกำลังกายเพื่อดูการทรงตัว เซหรือไม่ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา-น่อง เป็นต้น ดังนั้นการออกกำลังกายใน ผู้สูงวัยควรทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมในวันเดียว ควรวัดสัญญาณชีพโดยเฉพาะความดันโลหิตก่อน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรค่อยๆออกกำลังกายทำเท่าที่ทำได้ เบาๆก่อน 6. โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่เกี่ยวกับข้อที่พบได้บ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุของความพิการได้มาก ในคนสูงอายุ สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามโรคนี้มีความผิดปกติเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมของข้อต่อ โดยมีการทำลายของกระดูกอ่อนมากกว่าการสร้าง อาการสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ปวดข้อ การอักเสบซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่มีการทำลายกระดูกอ่อนแล้วก่อให้เกิด ปัจจัยที่ไปกระตุ้นกระบวนการอักเสบขึ้นใน น้ำไขข้อ (synovial fluid) พบว่าในข้อที่เสื่อมจะมีการสร้าง cytokines และสารสื่อชนิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอักเสบขึ้นมาเป็นปริมาณมาก ลักษณะผิวข้อที่พบ คือ ผิวข้อบวม ขุย ถลอก มีรอยแยก และผิวข้ออาจหายไปเลย อัตราการเกิดข้อเสื่อมนั้นในอายุน้อยกว่า 30 ปีพบได้ 1% , อายุน้อยกว่า 40 ปี พบได้ 10% , อายุมากกว่า 60 ปี พบได้ 50% และอายุมากกว่า 75 ปีพบได้ 100% การรักษาโรคข้อเสื่อม มีทั้งการให้คำแนะนำและการใช้ยา การให้คำแนะนำ โดยให้ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายที่พอเหมาะเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงช่วยพยุงกระดูก งดการออกกำลังกายที่ทำให้ข้อต้องรับน้ำหนักมาก สำหรับการใช้ยา ยาที่ใช้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ยาที่รักษาตามอาการ แบ่งออกเป็น 1.1 ยาบรรเทาปวด (analgesics) และยาบรรเทาการอักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาบรรเทาปวดที่ใช้กันมากได้แก่ paracetamol ส่วนยากลุ่ม NSAIDs มีทั้งชนิดที่เป็น cyclooxygenase (COX) nonspecific inhibitors เช่น ibuprofen, diclofenac ซึ่งยาเหล่านี้มีฤทธิ์ข้างเคียงที่สำคัญคือ ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ชนิด COX-2 selective inhibitors เช่น nimesulide, nabumetone ชนิด COX-2 specific inhibitors เช่น celecoxib เป็นยาระคายเคืองต่อทางเดินอาหารน้อย 1.2 Slow-acting, anti-osteoarthritic drugs ยาจะออกฤทธิ์อย่างช้าๆ ช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบของโรคข้อเสื่อมได้ ไม่ระคายเคืองทางเดินอาหาร 2. ยาที่ช่วยชะลอหรือหยุดการรุดหน้าของโรค (disease modifying-anti-osteoarthritic drugs) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช่วยปกป้องเซลล์กระดูกอ่อนไม่ให้ถูกทำลายและช่วยซ่อมแซม กระดูกอ่อนส่วนที่ถูกทำลายไป ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ diacerein ช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อเสื่อมได้ดี ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ใช้รับประทานในขนาดครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งพร้อมอาหาร
|
|
ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงาน | |
การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติรายวิชาการสร้างเสริมสุขภาพ การพยาบาลครอบครัว และชุมชน และการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ
|
|
ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาต่อ ? | |
- การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติรายวิชาการสร้างเสริมสุขภาพ การพยาบาลครอบครัว และชุมชน และการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ – การสอนภาคปฏิบัติ ณ สถานีอนามัย ชุมชน และหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง
|
(334)