แบบฟอร์มสำหรับส่งบทความเข้าคลังความรู้
วันที่บันทึก : ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ผู้บันทึก : นางสาววรนิภา กรุงแก้ว นางเกษรา วนโชติตระกูล นางวันดี แก้วแสงอ่อน นางจันทิมา ช่วยชุม นางพิมพวรรณ เรืองพุทธ และนางสาวจามจุรี แซ่หลู่
กลุ่มงาน : กลุ่มวิชาการพยาบาลพื้นฐานและพื้นฐานวิชาชีพ และกลุ่มการพยาบาลเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุและบริหารการพยาบาล
ฝ่าย : ฝ่ายวิชาการ
ประเภทการปฏิบัติงาน:
วันที่ ๑๔– ๑๖ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
หน่วยงาน/สถาบันที่จัด :
สถานที่จัด : ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส จ.นนทบุรี
เรื่อง : การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL) สำหรับวิทยาลัยสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก
รายละเอียด
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตร และปฏิรูป รูปแบบการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษากันอย่างกว้างขวางด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาทิเนื้อหาแน่นมาก และไม่สอดคล้องกับการนำไปใช้ในสถานการณ์จริงที่บัณฑิตจะออกไปทำงาน การเรียนการสอนเน้นการท่องจำมากกว่าการคิดและการแก้ปัญหา การเรียนการสอนไม่ได้เตรียมผู้เรียนให้มีการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีพ ผู้เรียนไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ การเรียนเรียนไปเพื่อสอบ เป็นต้น การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based learning : PBL) เป็นทั้งวิธีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน ในด้านการพัฒนาหลักสูตร เป็นวิธีการจัดหลักสูตรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้โดยอาศัยปัญหาที่เป็นจริงในการปฏิบัติของวิชาชีพ ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักประกอบด้วย (๑) ใช้ปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเป็นตัวกระตุ้นหรือจุดเริ่มต้นในการแสวงหาความรู้ (๒) การบูรณาการเนื้อหาความรู้ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น (๓) เน้นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ (๔) เรียนเป็นกลุ่มย่อย โดยมีครูหรือผู้สอนเป็นผู้สนับสนุนและกระตุ้น ผู้เรียนต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิด ขึ้นในกลุ่ม (๕) เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตนเองหรือกลุ่มตั้งไว้
กระบวนการและขั้นตอนในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (PBL)
ประกอบด้วย ๓ ระยะ ๗ ขั้นตอน
ระยะที่ ๑ เปิดโจทย์ปัญหา
ระยะที่ ๒ ค้นคว้าหาความรู้
ระยะที่ ๓ ปิดโจทย์ปัญหา
ระยะที่ ๑ เปิดโจทย์ปัญหา มี ๕ ขั้นตอน
๑. Clarify terms and concepts นักศึกษาทั้งกลุ่มร่วมกันอ่านโจทย์/สถานการณ์ ทำความเข้าใจกับศัพท์และแนวคิดให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน
๒. Identify the problem ระบุปัญหาของโจทย์ / สถานการณ์
๓. Analyses the problem วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ความเชื่อมโยงของปัญหา
๔. Formulate hypotheses ตั้งสมมติฐานที่เป็นสาเหตุของปัญหา จัดลำดับความสำคัญ
๕. Formulate learning objectives ตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหา
ระยะที่ ๒ ศึกษาหาความรู้
๖. Collect additional information outside the group รวบรวมข้อมูลนอกกลุ่ม โดยต่างคนแยกย้ายกันศึกษาหาความรู้จากแหล่งวิทยาการต่าง ๆตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้
ระยะที่ ๓ ปิดโจทย์ปัญหา
๗. Synthesize and test the newly acquired and identify information generalization and principles derived from studying this problem กลุ่มกลับมาพบกันใหม่ สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเพื่อพิสูจน์สมมุติฐาน และสรุปเป็นหลักการสำหรับการนำไปใช้ต่อไปในอนาคต
ประเด็นสำคัญในการเรียนแบบ PBL
๑. ผู้เรียนต้องเผชิญกับโจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์โดยที่มิได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า หรือเรียนเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโจทย์นั้นมาก่อน
๒. โจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์ จะต้องสร้างให้คล้ายคลึงกับปัญหาหรือสถานการณ์จริงที่ผู้เรียนจะต้องไปเผชิญในอนาคต
๓. ผู้เรียนจะต้องศึกษาโจทย์ดังกล่าวในลักษณะของการใช้เหตุ ใช้ผล และการประยุกต์ใช้ความรู้อย่างเหมาะสมกับระดับความรู้ของตน
๔. โจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์นั้น จะต้องเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในระหว่างการอภิปรายในกระบวนการกลุ่ม
๕. ความรู้และทักษะที่ได้จากการศึกษาหาความรู้จะต้องถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการแก้ปัญหาเพื่อจะได้สามารถประเมินประสิทธิภาพการเรียนรู้
๖. เครื่องมือที่ใช้วัดผลต้องสอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ โดยต้องวัดทั้งเนื้อหาความรู้ การแก้ปัญหา ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ประสิทธิภาพของกระบวนการกลุ่ม
ประโยชน์ของ PBL
๑. ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา
๒. ผู้เรียนเกิดการใฝ่รู้และสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองไปตลอดชีวิต
เงื่อนไขที่สนับสนุนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ
๑. Activation of prior knowledge
การเรียนแบบ PBL ขั้นตอนที่จะระบุปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา จะต้องใช้ความรู้เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่ จึงเป็นการเรียนที่มีการกระตุ้นความรู้เดิมมาใช้
๒. Encoding specificity
PBL ใช้โจทย์ปัญหาที่พบจริง หรือคล้ายคลึงกับปัญหาที่พบในวิชาชีพ ทำให้ผู้เรียนจะระลึกได้เมื่อพบปัญหานี้อีกในอนาคต
๓. Elaboration of knowledge
ในการเรียนแบบ PBL เมื่อผู้เรียนไปศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมาแล้ว จะต้องนำความรู้ที่ได้มาอภิปราย ต่อเติมเสริมความรู้ซึ่งกันและกัน
จุดเด่นของ PBL
๑. ใช้กรณีศึกษาในวิชาชีพมาเป็นตัวกระตุ้นในการเรียนวิชาพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้มีความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาช่วยตัดเนื้อหาวิชาพื้นฐานที่ไม่เกี่ยวข้องและล้าสมัย
๒. มีบูรณาการระหว่างสาขาวิชา ทำให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงทางวิชาชีพ และมีการรวบรวมคัดเลือดเนื้อหาสำคัญที่เป็นแกนหลัก ช่วยลดเนื้อหาที่ต้องเรียนกันมากมายโดยไม่จำเป็น
๓. ผู้เรียนจะต้องเปลี่ยนจาก passive learner มาเป็น active learner
๔. เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและการปฏิบัติงานทางวิชาชีพ เช่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม
๕. สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ เพราะใช้ปัญหาจริงมาเป็นตัวกระตุ้น
๖. กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจแทนการท่องจำ เพราะต้องประยุกต์ความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหา
๗. เป็นการเรียนรู้แบบความคิดสร้างสรรค์ (Constructivism)เพราะต้องใช้ความรู้เดิมที่มีอยู่มาคิดในการสร้างความรู้ใหม่ที่จำเป็นเพื่อต่อเติมเสริมเข้ากับความรู้เดิม
จุดอ่อนของ PBL
๑. ความรู้ทีได้ อาจเป็นการเรียนรู้อย่างไม่เป็นระบบ ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ผิดกับการสอนของครูที่มักมีการสอนอย่างเป็นระบบ
๒. อาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มากกว่าที่ครูสอน
๓. การลงทุนด้านทรัพยากรค่อนข้างสูง
๔. ครูไม่สามารถใช้ความรู้ของตนมาถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้โดยตรง จึงอาจไม่เกิดแรงจูงใจในการสอน
๕. จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถของครูในด้านกระบวนการกลุ่มย่อย
๖. ขาดแบบอย่างของครูที่ดีที่จะเป็น role model เช่นในระบบเดิม
บทบาทครูในการกระตุ้นและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้
ครูใน PBL จะเปลี่ยนจากผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้หรือข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษาโดยตรง มาเป็นผู้สนับสนุนหรือกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุถึงเป้าหมาย (facilitator) โดยบทบาทของครู มีดังนี้
๑. ครูต้องส่งเสริมให้นักศึกษาเกิด meta cognitive skill คือ
- การคิดใคร่ครวญ ตรึกตรองอย่างแยบคายในการแก้ปัญหา
- ทบทวนความรู้และประสบการณ์เดิมนำมาใช้กับปัญหาใหม่ได้
- สร้างสมมุติฐาน ตัดสินใจว่า ควรสังเกต ไต่ถาม ค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องใด จากแหล่งวิทยา
การใด
- รู้จักพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้มาว่าถูกต้องหรือไม่
- ครูต้องพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาคิดโดยการใช้คำถาม
- ครูไม่ทำตัวเป็นผู้ป้อนข้อมูลโดยตรงให้แก่นักศึกษา
- ครูหลีกเลี่ยงการให้ความเห็นต่อการอภิปรายของนักศึกษาว่าผิดหรือถูกโดยตรง
๒. ช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้โดยผ่านขั้นตอนทีละขั้น ไม่เรียนลัด เช่น ในการปัญหา ต้องมีการกล่าวถึงสมมุติฐานหรือพยายามอธิบายสาเหตุให้หมดก่อนจะไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
๓. ช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในเรื่องที่เรียนได้อย่างลึกซึ่ง สามารถดึงความรู้ ความคิดที่ซ่อนอยู่ในใจออกมาได้
๔. กระตุ้นให้นักศึกษาอภิปรายโต้ตอบกันเอง โดยครูไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลางของการโต้ตอบ
๕. ช่วยให้ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของกลุ่มป้องกันไม่ให้คนที่พูดเก่งทำตัวเด่นในกลุ่มมากไป ไม่ปล่อยให้คนไม่ช่างพูดถอนตัวจากกลุ่ม
๖. ปรับเปลี่ยนสภาพการเรียนการสอนไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายเมื่อปัญหาง่ายไป หรือท้อแท้เมื่อปัญหายากไป
๗. ต้องดูแลความก้าวหน้าของนักศึกษาทุกคนในกลุ่มฝึกให้รู้จักประเมินตนเอง และช่วยกันเองในกลุ่มเมื่อมีปัญหาการเรียนรู้เกิดขึ้น
๘. ทำความรู้จักกับกลุ่มเป็นอย่างดี เมื่อเกิดปัญหาพฤติกรรมกลุ่มทำให้กลุ่มไม่ก้าวหน้า ครูต้องพยายามทำให้กลุ่มตระหนักและหาทางแก้ไขด้วยความสามารถของกลุ่มเองไม่ใช่ครูลงไปแก้ไขให้แต่แรกโดยตรง
บทบาทครูในการประเมินผล
๑. Formative evaluation การประเมินความก้าวหน้าของนักศึกษาเป็นระยะตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ หาข้อมูลว่าผู้เรียนมีความสามารถและมีจุดอ่อนในการเรียนรู้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข
๒. Summative evaluation ตัดสินว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงระดับมาตรฐานที่สมควรผ่านไปศึกษา Block ต่อไปหรือเลื่อนไปเรียนในปีถัดไปได้หรือไม่
ความรู้และทักษะของครูที่ควรมี
๑. ความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและของ block ที่ตนสอนเป็นอย่างดี
๒. ความรู้ความเข้าใจในกระบวนการกลุ่ม พฤติกรรมกลุ่ม
๓. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมทั้งมีทักษะในการเข้าในปัญหาและการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
คุณลักษณะและเจตคติที่สำคัญของครู
๑. ต้องมองปัญหาให้ยืดหยุ่นและกว้างขวาง ครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ ของปัญหา
๒. ต้องรู้ว่าตนเองมิใช่ผู้วิเศษที่จะรู้ทุกอย่างและตอบได้ทุกคำถามและต้องไม่พยายามป้อน หรือยัดเยียดความรู้ของตนเองให้กับนักศึกษา
๓. ต้องสนใจและเอาใจใส่นักศึกษาทั้งด้านพฤติกรรมและการเรียน สามารถค้นพบเมื่อเกิดปัญหาในการเรียนรู้และช่วยในการแก้ไข
๔. มีความเชื่อมั่นตนเองในการให้ Feedback ที่ตรงไปตรงมากับนักศึกษา
๕. ต้องไม่แสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเต็มในชั้นเรียน แต่ให้ความนับถือนักศึกษาในฐานะเพื่อนร่วมงาน และสามารถเรียนรู้ร่วมกันกับนักศึกษา
๖. ต้องตระหนักถึงการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมโดยสอดแทรกแนวคิดและทางปฏิบัติเมื่อมีโอกาส
๗. ต้องมีความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติตามสัญญา เพื่อเป็นตัวอย่างแก่นักศึกษา
การเรียนที่ใช้ปัญหาเป็นหลัก จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียน เนื่องจากผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มากกว่าการรับฟังเนื้อหาจากครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว สิ่งสำคัญก็คือสถานการณ์ปัญหา ที่นำมาใช้เป็นแรงกระตุ้นและผลักดันให้ผู้เรียนนำความรู้ หรือประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมมาใช้แก้ปัญหา ดังนั้นลักษณะของปัญหาต้องมีความน่าสนใจ ท้าทายและน่าค้นหาคำตอบ รวมทั้งควรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน เพื่อผู้เรียนจะได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหาโดยการระบุประเด็น โครงสร้าง และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงาน
การจัดการเรียนการสอนให้ผลผลิตคือนักศึกษาพยาบาล เป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณภาพต่อไป
ความรู้ที่จะนำไปพัฒนาต่อ
การเรียนการสอนและการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบของนักศึกษา
(408)