ประเพณีสารทเดือนสิบ

ประเพณีสารทเดือนสิบ คำว่า สารทเป็นคำอินเดีย แปลว่า ฤดู ซึ่งหมายถึง ฤดูเก็บเกี่ยว งานวันสารทจึงมีความหมายว่างงานประเพณีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

การจัดหฺมฺรับ เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ซึ่งเรียกกันว่า “วันหลองหฺมฺรับ” ขนม 5 อย่างที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่ม ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง จะเพิ่มขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน

การยกหฺมฺรับ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นจะจัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบของทุกปี โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และร่วมการประกวด ทางอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา วพบ.นครศรีธรรมราช ได้ร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสรรค์ ตกแต่งรถหรับด้วยขนมลา ขนมไข่ปลา ขนมดีซำ ขนมบ้า  และขนมอื่นๆ พร้อมเข้าร่วมประกวดรถหฺมฺรับ  เดินขบวนแห่หมรับ ในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ จ.นครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *