คุณอำนวย อ. จามจุรี แซ่หลู่ อ. จรรยา ศรีมีชัย
คุณลิขิต อ. ขจิต บุญประดิษฐ
ส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้กระบวนการพยาบาล
ผู้รับผิดชอบ นางสาวจามจุรี แซ่หลู่ และนางจรรยา ศรีมีชัย
ความเป็นมาและความสำคัญ
กระบวนการพยาบาลเป็นกระบวนการที่สำคัญที่พยาบาลต้องนำไปใช้ในการปฏิบัติเพื่อเพิ่มคุณภาพในการบริการพยาบาล เพราะเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยการประเมินสภาพผู้รับบริการ โดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการเก็บข้อมูลจากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งผลการตรวจพิเศษต่างๆ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงปัญหาทางการพยาบาลที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย แล้วจึงนำมาวางแผนการพยาบาล โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ กำหนดวิธีการให้การพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และกำหนดเกณฑ์การประเมินผล และขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการพยาบาลคือ การประเมินผลเพื่อให้ทราบว่าการพยาบาลที่ให้สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้รับบริการได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ต้องปรับแผนการพยาบาลเพื่อให้เหมาะกับปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป
ในการจัดการเรียนการสอนวิชาการพยาบาล จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการพยาบาลโดยการให้ความรู้ในเชิงทฤษฎี และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับผู้รับบริการโดยการนำไปฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยในการเรียนวิชาปฏิบัติทางการพยาบาล เพื่อให้นักศึกษาเกิดทั้งความเข้าใจและสามารถนำกระบวนการพยาบาลไปใช้เป็นแนวทางในการให้การพยาบาลผู้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อจบการศึกษาไปเป็นพยาบาลวิชาชีพ
จากการจัดการเรียนการสอนในการให้ความรู้เรื่องกระบวนการพยาบาล และการฝึกปฏิบัติเรื่องการนำกระบวนการพยาบาลไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย พบว่าผู้เกี่ยวข้องในขณะที่ฝึกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นตัวนักศึกษา อาจารย์พยาบาล และพยาบาลประจำการ เกิดปัญหาในการใช้กระบวนการมากมาย ดังนี้ 1) ด้านนักศึกษา ไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลผู้รับบริการได้อย่างครอบคลุม ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้จึงส่งผลให้ไม่สามารถกำหนดปัญหาทางการพยาบาลได้ ไม่สามารถวางแผนการพยาบาลได้อย่างครอบคลุม และไม่สามารถกำหนดเกณฑ์การประเมินผลได้อย่างถูกต้อง 2) ด้านอาจารย์ อาจารย์จะเกิดความรู้สึกเหนื่อยและเบื่อที่ต้องแนะนำนักศึกษาเกี่ยวกับการใช้กระบวนการพยาบาลบ่อยครั้งแต่นักศึกษาก็ยังไม่สามารถปรับปรุงตนเองได้ และ 3) ด้านพยาบาล ก็เกิดความเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับอาจารย์พยาบาล
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้รับผิดชอบในการจัดการองค์ความรู้จึงได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและพบว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นักศึกษาไม่สามารถนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดจากการขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ จึงได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้กระบวนการพยาบาล ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จะทำให้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของกระบวนการคิดวิเคราะห์และการใช้กระบวนการพยาบาล เข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาดังกล่าวและได้แนวทางในการส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้อย่างมีคุณภาพได้อย่างแท้จริง
วิธีการดำเนินการ
ในการจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้กระบวนการพยาบาล มีวิธีการดำเนินการดังนี้
1. ได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการคิดเพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้กระบวนการพยาบาลออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 เนื่องจากเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีประสบการณ์ในการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ในการดูแลผู้รับบริการ 2) กลุ่มอาจารย์พยาบาลที่มีหน้าที่ในการสอนให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กระบวนการพยาบาล และ 3) กลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ช่วยให้คำแนะนำนักศึกษาเมื่อนักศึกษาขึ้นฝึกปฏิบัติ
2. ดำเนินการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังนี้
2.1 กำหนดวันเพื่อพบกลุ่มกับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 อาจารย์พยาบาล และพยาบาลวิชาชีพ
2.2 ชี้แจงให้นักศึกษา อาจารย์พยาบาล และพยาบาลวิชาชีพ ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการองค์ความรู้และวิธีการเพื่อให้มาซึ่งองค์ความรู้
2.3 ดำเนินการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยการกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีแนวคำถามที่ใช้ในการกระตุ้นให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังนี้
– ในความคิดเห็นของนักศึกษากระบวนการพยาบาลหมายถึงอะไร มีกระบวนการ
เป็นอย่างไร
– นักศึกษารู้สึก อย่างไรต่อการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ในการให้การพยาบาล
ผู้ป่วย
– นักศึกษามีปัญหาในการใช้กระบวนการพยาบาลหรือไม่ อย่างไร
– เมื่อนักศึกษาเกิดปัญหาในการใช้กระบวนการพยาบาลนักศึกษาแก้ปัญหาอย่างไร
ผลที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร
– ในความคิดเห็นของนักศึกษา แนวทางในการที่จะส่งเสริมให้ใช้กระบวนการ
พยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร
2.4 รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการร่วมแสดงความคิดเห็น และสรุปองค์ความรู้ที่ได้
ผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้
ผลจากการร่วมแสดงความคิดในกลุ่ม สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการพยาบาล นักศึกษาสะท้อนถึงความหมายของกระบวนการพยาบาลที่หลากหลายดังนี้
1.1 กระบวนการพยาบาลเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีระบบ แบบแผนและมีขั้นตอนที่ใช้เพื่อวางแผนในการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมสามารถนำไปใช้ได้จริง
1.2 กระบวนการที่พยาบาลนำไปใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพของผู้รับบริการอย่างมีระบบประกอบ 5 ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล การวินิจฉัย การวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาล การประเมินผลการพยาบาล
1.3 กระบวนการที่ช่วยในการจัดระบบการทำงานของพยาบาล
1.4 กระบวนการที่มุ่งบรรเทาภาวะผิดปกติของบุคคลให้สู่ภาวะปกติทั้งด้านกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม กระบวนการประกอบไปด้วยการรวบรวมข้อมูล การวางแผน การวินิจฉัยปัญหา และการนำไปสู่การปฏิบัติและการประเมินผลต่อเนื่อง
1.5 มีความเป็นองค์รวม มีขั้นตอนประกอบด้วยการประเมินสภาพ เก็บรวบรวมข้อมูล การตั้งข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล การกำหนดวัตถุประสงค์ กิจกรรมการพยาบาลให้การพยาบาลและการประเมินผลการพยาบาล
1.6 วิธีการหรือขั้นตอนในการดำเนินการปฏิบัติพยาบาลต่อผู้ป่วยครอบคลุมแบบองค์รวมประกอบด้วย 5 ขั้นตอน รวบรวมข้อมูล การวินิจฉัย การวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาล และการประเมินผลการพยาบาล
1.7 ขั้นตอนของการพยาบาลที่มีแบบแผน มีเหตุผลสามารถประเมินคุณภาพได้โดยใช้ความรู้คู่กับศิลปะในการวางแผนปฏิบัติและการประเมินผลภาวะสุขภาพที่ครอบคลุมด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ ภายใต้คุณธรรม เอื้ออาอร และความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคลประกอบ 5 ขั้นตอน รวบรวมข้อมูล การวินิจฉัย การวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาล การประเมินผลการพยาบาล
1.8 ขั้นตอนการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้รับบริการสูงสุด ครอบคลุม
1.9 แนวทางให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยประกอบด้วยเก็บรวบรวมข้อมูล การตั้งข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล การกำหนดวัตถุประสงค์ กิจกรรมการพยาบาล ให้การพยาบาล และการประเมินผลการพยาบาล
2. ความรู้สึกต่อการใช้กระบวนการพยาบาล นักศึกษาสะท้อนถึงความรู้สึก ดังนี้
2.1 ความรู้สึกด้านบวก นักศึกษามีความรู้สึกที่ดีต่อกระบวนการพยาบาล ในหลายประเด็น ดังนี้
– เป็นสิ่งที่ดีเพราะสามารถช่วยให้ดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุม ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น
– ช่วยให้การพยาบาลมีระบบระเบียบ การทำงานมีขั้นตอน เป็นเหตุผลและมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้
– มีแนวทางในการดูแลผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้น มีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยไม่ต้องกลัวความผิดพลาด สามารถดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุม
– รู้สึกภาคภูมิใจในศาสตร์สาขาวิชาชีพพยาบาลที่มีกระบวนการพยาบาลนำมาใช้อย่างมีระบบแบบแผนมีขั้นตอน สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องเหมาะสม
2.2 ความรู้สึกด้านลบ นักศึกษามีความรู้สึกต่อกระบวนการพยาบาลในทางด้านลบ ในหลายประเด็น ดังนี้
– การนำกระบวนการพยาบาลไปใช้เป็นเรื่องที่ยาก
– มีความรู้ว่ากระบวนการพยาบาลคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้างจากการเรียนทฤษฎี แต่เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการให้การพยาบาลผู้ป่วย พบว่าไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง
– รู้สึกเบื่อกับการเขียนแผนการพยาบาล
3. ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กระบวนการพยาบาล นักศึกษาได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจากการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ ดังนี้
3.1 การเก็บข้อมูลไม่ครอบคลุม นักศึกษายังไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญๆ ของผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อมูลไหนคือข้อมูลที่สำคัญ เพราะบางครั้งมีข้อมูลที่ต้องเก็บรวบรวมมากมาย ทำให้ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อมาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง
3.2 การตั้งข้อวินิจฉัยการพยาบาล ในเรื่องนี้นักศึกษาสะท้อนว่ามีปัญหามาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายประเด็น ดังนี้
– ไม่สามารถตั้งข้อวินิจฉัยการพยาบาลได้สอดคล้องกับข้อมูลของผู้ป่วย เนื่องจากไม่สามารถจำแนก แยกแยะ จัดกลุ่ม จัดหมวดหมู่ของข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ว่าหมายความว่าอย่างไร ส่งผลให้ไม่สามารถกำหนดปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
– เกิดความสับสนในการตั้งข้อวินิจฉัยการพยาบาล เพราะบางครั้งอาจารย์ท่านหนึ่งได้แนะนำการกำหนดข้อวินิจฉัย และบอกว่าปัญหาการพยาบาลผู้ป่วยคืออะไร แต่เมื่อนำไปร่วมประชุมปรึกษาก่อนให้การพยาบาลกับพยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาล ได้รับคำแนะนำว่าไม่ถูกต้อง และได้ช่วยปรับเปลี่ยนข้อวินิจฉัยการพยาบาลให้ใหม่ แต่เมื่อนำไปเขียนในแบบบันทึกทางการพยาบาลในแฟ้มประวัติของผู้ป่วย พยาบาลอีกท่านหนึ่งบอกว่าไม่ถูกต้อง จึงต้องปรับการเขียนใหม่อีกครั้ง ทำให้เกิดความรู้สึกสับสนว่าจริงๆ แล้วควรเขียนข้อวินิจฉัยการพยาบาลอย่างไร และเขียนแบบไหนจึงถือว่าถูกต้อง
– การแนะนำในการใช้กระบวนการพยาบาลของมีความแตกต่างกันมากระหว่างอาจารย์กับพยาบาลวิชาชีพ โดยเรียงลำดับความแตกต่างจากมากไปหาน้อยดังนี้ 1) อาจารย์กับอาจารย์ 2) อาจารย์กับพยาบาล และ 3) พยาบาลกับพยาบาล
3.3 การกำหนดกิจกรรมการพยาบาล นักศึกษาสะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
– ไม่สามารถกำหนดการพยาบาลได้อย่างครอบคลุมกับปัญหาที่เกิดขึ้น
– มีความสับสนในการเรียงลำดับความสำคัญของการพยาบาล บางครั้งอาจารย์บางท่านแนะนำว่าต้องเขียนการประเมินสภาพผู้ป่วยขึ้นมาก่อนเพื่อให้ทราบว่าสภาพผู้ป่วยเป็นอย่างไรจึงให้การพยาบาล แต่อาจารย์บางท่านแนะนำว่าให้เขียนการพยาบาลที่จำเป็นมากที่สุดเพื่อแก้ปัญหาก่อนแล้วสุดท้ายจึงตามด้วยการประเมินสภาพเพื่อติดตามว่าการพยาบาลที่ให้สามารถช่วยเหลือผู้รับบริการได้หรือไม่
3.4 การเขียนเกณฑ์การประเมินผล นักศึกษาสะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ ดังนี้
– ไม่สามารถเขียนเกณฑ์การประเมินผลได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพราะไม่เข้าใจว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จะสามารถวัดได้ด้วยอะไรจึงจะบอกได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์
– ไม่สามารถเขียนเกณฑ์การประเมินผลได้อย่างครอบคลุม
3.5 การเขียนผลการประเมิน นักศึกษาสะท้อนว่าเกิดความสับสนมาก เนื่องจากอาจารย์ได้แนะนำว่าการเขียนผลการประเมินในแผนการพยาบาลต้องประเมินตามเกณฑ์ที่วางไว้ แต่เมื่อนำไปเขียนผลการประเมินในแบบบันทึกทางการพยาบาล พยาบาลแนะนำว่าต้องประเมินตามกิจกรรมทางการพยาบาล จึงเกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร
3.6 สัมพันธภาพที่ไม่ดีระหว่างอาจารย์และพยาบาลที่หอผู้ป่วย ส่งผลให้นักศึกษาถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการแนะนำเท่าที่ควรจากพยาบาล บางครั้งบอกแต่เพียงสิ่งที่ได้วางแผนการการพยาบาลมาไม่ถูกต้อง แต่ไม่แนะนำว่าที่ถูกต้องคืออะไร
4. วิธีการเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดปัญหาจากการใช้กระบวนการพยาบาลนักศึกษาได้เผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
4.1 พยายามแก้ปัญหา โดยการทำความเข้าใจด้วยตนเอง /ค้นหาข้อมูลจากผู้ป่วยมากขึ้น ปรึกษาเพื่อน ศึกษาจากตำรา และถามอาจารย์ผู้สอน/เจ้าหน้าที่พยาบาล/ครูพี่เลี้ยง
4.2 เกิดความรู้สึกเบื่อในการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ เบื่อการเขียนแผนการพยาบาล เพราะไม่สามารถทำได้ถูกต้องและครอบคลุม
5. ผลที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหา นักศึกษาได้สะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหา ดังนี้
5.1 นักศึกษาบางส่วนเกิดความรู้ความเข้าใจการใช้กระบวนการพยาบาลเพิ่มมากขึ้น สามารถเก็บข้อมูลและตั้งข้อวินิจฉัยได้ครอบคลุมมากขึ้น
5.2 นักศึกษาบางส่วนยังไม่แน่ใจว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวางแผนการพยาบาลที่ตนเองถูกต้องหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจารย์บอกไม่ถูกต้องแต่พยาบาลบอกว่าถูกต้อง หรืออาจารย์บอกว่าถูกต้องแต่พยาบาลบอกว่าไม่ถูกต้อง
6. แนวทางส่งเสริมให้ใช้กระบวนการพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักศึกษาได้สะท้อนถึงแนวทางในการส่งเสริมให้การนำกระบวนการพยาบาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
6.1 ด้านนักศึกษาต้องมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพยาบาล โดยการอ่านหนังสือ ปรึกษาอาจารย์ พร้อมทั้งต้องฝึกการใช้กระบวนการบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น
6.2 ด้านการจัดการเรียนการสอน ควรที่จะมีการสอนให้นักศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ก่อนที่จะนำไปฝึกประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยจริงๆ โดยการฝึกการคิดวิเคราะห์สถานการณ์จำลอง และร่วมอภิปรายกับอาจารย์หลายๆ กรณีศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ หรืออาจจะให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการเก็บข้อมูลแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และวางแผนการพยาบาลโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา
6.3 ด้านอาจารย์และพยาบาล มีแนวทางในการพัฒนาดังนี้
– การให้คำแนะนำของอาจารย์และพยาบาลควรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อไม่ให้นักศึกษาเกิดความสับสนในการนำกระบวนการพยาบาลไปใช้
– สัมพันธภาพระหว่างพยาบาลและอาจารย์ อาจารย์และพยาบาลควรมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เพราะถ้าอาจารย์และพยาบาลมีสัมพันธภาพที่ไม่ดี เมื่ออาจารย์ไม่อยู่บนหอผู้ป่วย นักศึกษาจะไม่ได้รับคำแนะนำในการพยาบาล
หมายเหตุ ข้อมูลที่ได้เป็นความรู้ที่ได้จาก นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชี่นปีที่ 3 เท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆ
กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ